Tuesday, November 16, 2010

พระคุณแม่ทดแทนไม่รู้หมด

กาลครั้งหนึ่งไม่นานเท่าไหร่ ณ ต้นไม้ใหญ่ท้ายหมู่บ้าน มีเด็กชายคนหนึ่งเดินหงุดหงิดอยู่คนเดียว ปากก็บ่นไปว่า "ใช้อยู่ได้ วันๆ ใช้ทำโน่นทำนี่ เดี๋ยวให้ถูบ้าน เดี๋ยวให้ล้างจาน โอ๊ย...เบื่อๆ ๆ"

เดือดร้อนถึงเทพผู้ให้กำเนิด ซึ่งเป็นผู้จัดการให้เด็กๆ มาเกิดในหมู่บ้านนี้ จึงแปลงกายเป็นผู้เฒ่า และปรากฎตัวพร้อมกับหมาน้อยตัวหนึ่ง

ผู้เฒ่าถามเด็กน้อยว่า "เด็กน้อยเจ้าบ่นอะไรอยู่เหรอ บอกเรามาเถอะ เผื่อเราจะช่วยเจ้าได้"

เด็กน้อยตอบ "ก็แม่ของฉันนะสิ วันๆ ชอบใช้ให้ทำงานบ้าน ไม่เคยได้พัก ได้เล่นกับเพื่อนบ้างเลย"

ผู้เฒ่าหยิบก้อนอิฐขึ้นมาสองก้อน

"เอ้า ถ้าอย่างนั้นเจ้าก็มาเล่นกับเราสิ เรามาแข่งกันถืออิฐนี้ไว้คนละก้อน ใครถือได้นานกว่าคนนั้นชนะ"

เด็กชายเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ จึงตกลงเล่นด้วย เวลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เด็กน้อยเริ่มเมื่อยล้า รู้สึกเบื่อ และขอยอมแพ้ ในที่สุดผู้เฒ่าจึงพูดต่อว่า

"ถ้างั้นเจ้าเล่นกับลูกหมาตัวนี้ไหมล่ะ แต่ก่อนอื่นเจ้าต้องป้อนนมให้มันก่อนนะ"

เด็กน้อยรับคำ แล้วเริ่มป้อนนมให้หมาน้อย ไม่นานมันก็เริ่มซุกซนและไม่ยอมอยู่นิ่งจนเด็กน้อยเริ่มเบื่อ แล้วก็พาลไม่ป้อนต่อ ผู้เฒ่าจึงสอนว่า

"แม้แต่ก้อนอิฐหนึ่งก้อนเจ้าก็ยกได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เทียบไม่ได้กับแม่เจ้า ซึ่งต้องอุ้มท้องเจ้าทั้งวันทั้งคืนนานถึงเก้าเดือน ก่อนจะคลอดเป็นเจ้าออกมา แล้วยังต้องอดทนเลี้ยงเจ้าตั้งแต่เล็กจนโตขนาดนี้ ในขณะที่เจ้าป้อนนมลูกหมาแค่มื้อเดียวก็เบื่อแล้ว การเป็นแม่นั้นลำบากนัก ตั้งแต่อุ้มท้อง และเลี้ยงลูกจนกว่าจะโต การทดแทนบุญคุณด้วยการช่วยการงานเพียงเล็กน้อยย่อมเทียบไม่ได้กับพระคุณแม่ที่เลี้ยงเรามา"

เด็กน้อยได้ฟังแล้วจึงคิดได้ รีบวิ่งกลับไปหาแม่โดยไม่คิดบ่นอีกเลย

คติ :  พระคุณแม่นั้นมากล้นเหลือคณานับ จะตอบแทนเท่าใดก็ไม่หมดสิ้น

จำไว้เสมอว่า "ความกตัญญูนั้น ส่งผลให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"


แหล่งข้อมูลที่มา    :    หนังสือ "อัสสัมชัญสาส์น"
                                    ศตวรรษที่ 2 ปีที่ 26 ฉบับที่ 142
                                    เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้แต่ง                     :     มิสขนิษฐา สุคตะ

Tuesday, November 9, 2010

ไม่สำคัญที่ชื่อ

มีมาณพคนหนึ่งชื่อ บาป ภาษาไทยเรียกว่า ลามก เป็นลูกศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์ในเมืองตักสิลา เขาถูกอาจารย์เรียกชื่อเสมอๆ ว่า "เจ้าบาป เจ้าบาป" นายบาปก็เห็นว่าชื่อของตนนี้เป็นอัปมงคลเสียจริงๆ จึงเข้าไปหาอาจารย์ขอให้อาจารย์เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ อาจารย์บอกว่า "เจ้าจงไปหาชื่อของคนที่ถูกใจเจ้ามาให้เราชื่อหนึ่งก่อน แล้วเราจะเปลี่ยนชื่อให้" นายบาปก็เที่ยวไปหาชื่อตามบ้านตามเมืองต่างๆ ครั้นไปเห็นคนเขาหามศพไปป่าช้าจึงถามว่า "คนที่ตายนี้ชื่ออะไรจ๊ะ"

คนหามศพบอกว่า "ชื่อนายอยู่"

นายบาปได้ยินดังนั้นจึงถามว่า "ชื่ออยู่ทำไมจึงตายเล่า"

คนหามศพจึงพูดว่า "ท่านนี้ช่างโง่เสียจริง คนชื่ออยู่หรือไม่ชื่ออยู่ก็ตายทั้งนั้นแหละ"

นายบาปได้ฟังแล้วก็เดินต่อไป พอถึงถนนแห่งหนึ่ง เห็นหญิงคนหนึ่งถูกโบยด้วยเชือกหนัง จึงแวะเข้าไปถามว่า "ท่านโบยหญิงนี้ทำไม"

เขาบอกว่า "มันเป็นทาสน้ำเงินของฉัน เมื่อมันจะไปจากฉัน มันก็ไม่คิดเงินให้ จึงต้องโบยมัน"

นายบาปถามว่า "หญิงนี้ชื่ออะไรไม่ทราบ"

เขาบอกว่า "ชื่อนางรวย"

นายบาปถามว่า "ชื่อรวยทำไมไม่มีเงินให้ท่านเล่า"

เขาจึงว่า "ท่านนี้ช่างโง่จริง คนชื่อรวยหรือไม่ชื่อรวยก็ตาม ถ้าไม่มีวาสนาแล้ว ก็เป็นคนยากจนได้ทั้งนั้น"

นายบาปเดินทางต่อไปถึงที่แห่งหนึ่ง เห็นชายคนหนึ่งเดินวนเวียนไปมาอยู่แถวนั้น จึงเข้าไปถามว่า "ทำไมท่านมาเดินวนเวียนอยู่เล่า"

ชายคนนั้นบอกว่า "เราหลงทางไม่รู้จะไปทางไหน"

นายบาปถามว่า "ท่านชื่ออะไรเล่า"

ชายคนนั้นบอกว่า "เราชื่อชำนาญทาง"

นายบาปพูดว่า "ชื่อชำนาญทาง ทำไมหลงทางได้"

ชายคนนั้นบอกว่า "ท่านอย่าโง่ไปเลย คนชื่อชำนาญทางหรือไม่ชื่อชำนาญทางก็อาจหลงได้ทั้งนั้น ชื่อเป็นแต่ตั้งไว้เรียกกันเท่านั้น"

นายบาปได้ฟังเช่นนั้น จึงคิดถึงชื่อคนตั้งแต่ต้นที่ไปพบมา ชื่ออยู่ก็ยังตาย ชื่อรวยก็ยังจน ชื่อชำนาญทางก็ยังหลงทาง แล้วนายบาปก็คิดต่อไปว่า ชื่อไม่สำคัญนี่ เป็นแต่ตั้งไว้อาศัยเรียกกันเท่านั้น ที่สำคัญก็อยู่ที่สุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อทำดี พูดดี คิดดี แล้วจะมีชื่ออย่างไรก็ไม่แปลก นายบาปจึงล้มความตั้งใจที่จะเปลี่ยนชื่อ กลับไปหาอาจารย์เล่าความตั้งแต่ต้นให้อาจารย์ฟัง แล้วเลิกการเปลี่ยนชื่อของตน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง   :  นิทานคติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ

ผู้แต่ง  :                        แปลก สนธิรักษ์

เงินสลึง

เด็กหญิงมณฑา รักวิชา ถือเงินสลึงที่ป้าให้ไปหาแม่ พูดว่า "แม่จ๋า ป้าให้เงินฉันสลึงหนึ่ง ฉันจะซื้อของเล่น" แม่ตอบว่า "เงินของเจ้า เจ้าจะทำอะไรก็ได้ แต่เรามาพูดกันเรื่องเงินนี่ก่อนเถิด"

เด็กหญิงมณฑานั่งลงใกล้แม่ คอยฟังว่าแม่จะพูดอะไรด้วยเรื่องเงินนั้น

แม่เอาเงินสลึงนั้นมาวางในฝ่ามือ ถามเด็กหญิงมณฑาว่า "สลึงหนึ่งเท่าไร"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "ยี่สิบห้าสตางค์เป็นสลึง"

แม่พูดว่า "ถูกละมณฑา ถ้าสี่สลึงเป็นเท่าไรล่ะ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "เป็นบาทหนึ่งสิแม่"

แม่ถามว่า "เงินเหล่านี้ใช้สำหรับทำอะไร"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "สำหรับซื้อขนมก็ได้ สำหรับซื้อตุ๊กตาก็ได้"

แม่ถามว่า "ใช้ได้เท่านั้นหรือ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "ไม่ใช่เท่านั้นดอกแม่ ถ้ามีมากจะเอาซื้อผ้าก็ได้ จะซื้อหนังสือก็ได้ จะเอาซื้ออาหารก็ได้ แต่ฉันมีสลึงเดียวเท่านั้น"

แม่ถามว่า "เออ มณฑา คนเขาหาเงินได้อย่างไร เจ้ารู้หรือ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "จ้ะ เขาหาได้ด้วยทำการ"

แม่พูดว่า "ถูกละมณฑา เราต้องทำการจึงจะหาเงินได้ ครั้นทำการได้เงินมาแล้ว เราต้องเลือกหาดูว่า จะเอามันไปทำอะไร"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "เอามันใช้สิแม่"

แม่ถามว่า "เท่านั้นหรือ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "เราต้องเก็บมันไว้บ้าง ให้น้องเสียก็ได้"

แม่ถามว่า "ตามเจ้าว่า เราทำมันได้สามอย่าง คือใช้มันอย่าง ๑ เก็บมันไว้อย่าง ๑ ให้คนอื่นเสียอย่าง ๑ สามอย่างนี้เจ้าชอบอย่างไหน"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "ฉันชอบทั้งสามอย่าง แต่ฉันจะทำทั้งสามอย่างด้วยเงินสลึงเดียวไม่ได้"

แม่พูดว่า "เจ้าต้องเก็บมันไว้ก่อนสิ จนมันมีมากพอ เจ้าจะซื้อของเล่นที่เจ้าชอบใจ จะซื้อให้น้องบ้าง เอาเหลือไว้บ้าง เช่นนี้เจ้าจะทำได้ทั้งสามอย่าง"

เด็กหญิงมณฑาเห็นชอบด้วย จึงเอาเงินสลึงฝากแม่ไว้ ได้มาอีกก็ฝากไว้อีก จนมีพอ จึงเอาซื้อหมวกสำหรับตัวใบหนึ่ง ให้น้องใบหนึ่ง ยังเหลืออีกบาทสามสลึง จึงสงวนไว้ใช้ต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  :    หนังสืออ่านภาษาไทย, นิทานสุภาษิต
                                     กระทรวงศึกษาธิการ

พูดดีเป็นศรีแก่ตัว

มีบุตรเศรษฐีสามคน อยากได้ดอกบัว จึงชวนกันไปที่สระบัวแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชายจมูกแหว่งเฝ้ารักษาอยู่ บุตรเศรษฐีคนที่หนึ่งได้พูดกับชายจมูกแหว่งที่เฝ้าสระบัวว่า "ท่านผู้เจริญ ธรรมดาผมและหนวดที่โกนแล้วยังงอกได้ฉันใด จมูกของท่านก็คงจะงอกได้ฉันนั้น ขอท่านจงให้ดอกบัวแก่ข้าพเจ้าเถิด"

บุตรเศรษฐีคนที่สองพูดว่า "พืชที่เขาหว่านลงในนา ย่อมงอกงามขึ้นได้ฉันใด จมูกของท่านก็คงจะงอกได้ฉันนั้น ขอท่านจงให้ดอกบัวแก่ข้าพเจ้าเถิด"

ชายจมูกแหว่งได้ฟังบุตรเศรษฐีทั้งสองพูดดังนั้นก็โกรธ เพราะพูดเอาแต่จะได้ จึงไม่ให้ดอกบัว

บุตรเศรษฐีคนที่สาม เมื่อเห็นชายจมูกแหว่งโกรธจึงพูดว่า "ทั้งสองคนนั้นพูดไม่จริง ธรรมดาจมูกที่แหว่งไปแล้วจะงอกขึ้นเหมือนผม หนวด และพืชนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าพูดนี้เป็นความจริง ท่านจงให้ดอกบัวแก่ข้าพเจ้าเถิด"

ชายจมูกแหว่งได้ฟังบุตรเศรษฐีคนที่สามพูดดังนั้นจึงกล่าวว่า "ท่านเป็นคนพูดจริง พูดถูก ข้าพเจ้าชอบใจ ไม่เหมือนสองคนที่พูดมาก่อน ยกย่องข้าพเจ้าเกินความจริง ข้าพเจ้าจะให้ดอกบัวแก่ท่าน" แล้วชายจมูกแหว่งก็หยิบดอกบัวมัดใหญ่ให้แก่บุตรเศรษฐีคนที่สาม

เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดว่า การพูดดีถูกกาลเทศะย่อมได้ผล ถ้าพูดไม่ดีก็เสื่อม


แหล่งข้อมูลอ้างอิง    :    นิทานคติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ
                                       
ผู้แต่ง                         :    แปลก สนธิรักษ์

Saturday, October 23, 2010

สองคนพี่น้อง

ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีครอบครัวของคนตัดไม้ยากจนอยู่ครอบครัวหนึ่ง ประกอบไปด้วยเขา ภรรยา และลูกสองคน  ภรรยาของเขาเป็นแค่แม่เลี้ยงของเด็กทั้งสองเท่านั้น แม่เลี้ยงคนนี้โหดร้ายกับเด็กทั้งสองอยู่เป็นประจำ

คนตัดไม้เป็นคนที่ยากจนมาก คืนหนึ่่งแม่เลี้ยงใจร้ายก็ได้คุยกับเขาว่า "พ่อ เราไม่มีอาหารเหลืออยู่เลยนะ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างเราก็จะอดตายแน่นอน ดังนั้นเราต้องพาเด็กสองคนนั่นเข้าไปปล่อยในป่า แล้วเราจะได้ไม่ต้องเลี้ยงเด็กสองคนนั่นอีกต่อไป"

คนตัดไม้รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมากที่ไ้ด้ยินภรรยาของเขาพูดเช่นนั้น แต่เธอก็พยายามทำให้เขาเห็นด้วยกับความคิดของเธอ  ในขณะเดียวกันเด็กทั้งสองก็ได้ยินการสนทนาระหว่างพ่อกับแม่เลี้ยงใจร้ายอยู่เช่นกัน พี่ชายจึงเกิดความคิดที่ชาญฉลาดขึ้นมาได้

ในเช้าวันรุ่งขึ้น คนตัดไม้และภรรยาได้พาสองคนพี่น้องเข้าไปในป่าและได้ทิ้งสองคนพี่น้องไว้เพียงลำพัง ฝ่ายพี่ชายซึ่งเก็บก้อนหินจำนวนหลายก้อนไว้ในกระเป๋าได้ทิ้งก้อนหินไว้ตลอดทางที่เข้าไปในป่า จึงทำให้สองคนพี่น้องเดินตามก้อนหินกลับบ้านได้

ในวันต่อมา คนตัดไม้และภรรยาได้พาสองคนพี่น้องเข้าไปในป่าและได้ทิ้งสองคนพี่น้องไว้เพียงลำพังอีก คราวนี้ัพี่ชายได้ทิ้งเศษขนมปังไว้ตลอดทางแต่โชคร้ายเศษขนมปังเหล่านั้นได้ถูกนกจิกกินจนหมดเกลี้ยง ดังนั้นสองคนพี่น้องจึงได้หลงทาง

สองคนพี่น้องพยายามเดินหาทางกลับบ้านจนกระทั่งมืดค่ำ ทั้งสองคนรู้สึกเศร้า อ้างว้าง จนเพลียและหลับไปใต้ต้นไม้ใหญ่

เช้าวันต่อมา ทั้งสองคนพี่น้องตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงนกร้อง นกเหล่านั้นได้ิบินนำเด็กทั้งสองไปยังบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง บ้านหลังนี้ทำด้วยขนมปังทั้งหลัง ที่ประตูและหน้าต่างประดับด้วยลูกอมหลากหลายสีสัน

เมื่อเด็กทั้งสองคนพี่น้องกำลังจะกินบ้านหลังนี้ ก็มีหญิงชราคนหนึ่งปรากฎตัวขึ้นและตะโกนเรียกเด็กทั้งสองว่า "เข้ามาซิ เข้ามาซิ ฉันมีอาหารมากมายให้พวกหนูกิน"

ที่แท้หญิงชราคนนี้ก็คือแม่มดใจร้ายที่ชอบกินเด็กเป็นอาหารนั่นเอง

ในวันถัดมา แม่มดใจร้ายได้ขังพี่ชายไว้ในกรงและบังคับให้น้องสาวทำงานอย่างหนักรวมทั้งทำความสะอาดบ้านทั้งหลังด้วย

ในที่สุด แม่มดใจร้ายคิดว่าอยากจะกินพี่้ชายก่อน จึงได้ให้น้องสาวก่อไฟในเตา และถามว่า "แม่หนู ก่อไฟเสร็จรียัง"

น้องสาวกล่าวว่า "ช่วยเข้ามาดูให้หน่อยซิคะ"

เมื่อแม่มดใจร้ายเข้าไปใกล้ น้องสาวก็ได้ผลักแม่มดเข้าไปในกองไฟทันที

น้องสาวรีบวิ่งมาเปิดกรงให้พี่ชาย และพูดว่า "แม่มดใจร้ายตายแล้ว เราทั้งสองคนพี่น้องรอดตายแล้ว"

สองคนพี่น้องได้ค้นพบกล่องใส่เพชรมากมายในบ้านแม่มดใจร้าย ทั้งสองจึงนำเพชรเหล่านั้นเดินทางกลับบ้านไปด้วย

ในช่วงที่สองคนพี่น้องไม่อยู่นั้น แม่เลี้ยงใจร้ายก็ได้ตายไป คนตัดไม้จึงได้ออกตามหาสองคนพี่น้องจนทั่ว และในที่สุด เขาก็ได้เจอสองคนพี่น้อง เขารู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่เขาและลูกทั้งสองได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขอีกครั้ง


Friday, October 1, 2010

คนเรียนหนังสือเป็นคน

สมัยก่อนไม่มีโรงเรียน เด็กผู้ชายเรียนหนังสือกับพระที่วัด เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือที่บ้าน พ่อแม่ปู่ย่าตายายสอนให้อ่านให้เขียน
   
สมัยก่อนคนไม่เห็นประโยชน์ที่จะเรียนหนังสือ คนรู้หนังสือจึงมีน้อย คนไม่รู้หนังสือจึงไม่มีความรู้และไม่ฉลาด

สมัยนี้มีโรงเรียนให้เรียนหนังสือ มีครูสอนหนังสือและยังสอนให้นักเรียนรู้จักคิด รู้จักพูดดี ทำดี สอนให้รู้เรื่องราวต่างๆ ของบ้านเมือง ให้รู้วิชาทำมาหากิน รู้วิธีทำงานให้ได้ดี

ถ้านักเรียนอยากเป็นคนฉลาด ต้องไปโรงเรียนและขยันเรียน หมั่นอ่าน หมั่นเขียน หมั่นเรียนหนังสือ จะได้มีความรู้ เมื่อมีความรู้แล้วจะคิดอะไร จะทำอะไร ก็ทำได้ดี เมื่อนักเรียนทำได้อย่างนี้ โตขึ้นจะได้เป็นคนดี มีความรู้ มีงานทำ พ่อแม่จะได้ชื่นใจ


แหล่งข้อมูลที่มา    :   เอกสารประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย
                              โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม

เสือสมิง

วันหนึ่ง ตาเสงี่ยมเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า แต่ก่อนเมืองไทยเรียกว่า "เมืองสยาม" มีป่าสงวนมาก ป่าสงวนคือ ป่าที่ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ในป่าจึงมีต้นไม้ขึ้นทึบ มีสัตว์ป่ามากมาย เช่น เนื้อสมัน ช้าง ลิง เสือ เป็นต้น แม่น้ำลำคลองก็มีปลาชุกชุม มีทั้งปลาสลิด ปลาสวาย และปลาสลาด

ตาเสงี่ยมได้เล่านิทานเรื่องเสือสมิงให้เด็กๆ ฟังว่า ใกล้ป่าสงวนแห่งหนึ่ง มีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เป็นบ้านของลุงสมาน รอบๆ บ้านของลุงสมานมีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเต็มและเงียบสงัด ป่าสงวนแห่งนี้มีเสือตัวหนึ่ง ชาวบ้านลือกันว่าเป็นเสือสมิง บางทีเสือตัวนี้ก็เป็นคนเข้ามาในหมู่บ้าน และหลอกให้คนในหมู่บ้านเข้าไปในป่าเสมอๆ แล้วเสือสมิงก็จับกิน

วันหนึ่งสง่าหลานของลุงสมานไปเก็บลูกสมอใกล้บ้าน ไปพบหญิงสาวนั่งสยายผมอยู่ใต้ต้นสมอ สง่าเดินไปพูดด้วย หญิงสาวก็เป็นเสือสมิง จะกัดสง่า สง่าก็วิ่งหนีและร้องให้คนช่วย

ลุงสมานนั่งรอสง่า ได้ยินเสียงร้องของสง่า จึงถือปืนวิ่งเข้าไปดู พบเสือสมิงกำลังวิ่งไล่ตามสง่า ลุงสมานจึงยิงเสือสมิง เสียงปืนดังสนั่น เสือสมิงผงะหงาย แล้ววิ่งหายเข้าป่าไป

ตาเสงี่ยมบอกเด็กๆ ว่า ไม่ต้องหวาดผวา เสือสมิงมีแต่เรื่องเล่าในนิทานเท่านั้น


แหล่งข้อมูลที่มา    :   เอกสารประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย
                             โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม

บะหมี่ผู้ไม่กลัว

หมอใหญ่เป็นหมอประจำหมู่บ้าน ใครเจ็บไข้จะมาให้หมอใหญ่รักษา หมีเป็นหลายชายของหมอใหญ่ เขาชอบกินบะหมี่ หมอใหญ่จึงเรียกเขาว่าบะหมี่ เขาชอบบอกใครๆ ว่า เขาเป็นคนเก่ง ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น

วันหนึ่งหมอใหญ่กับบะหมี่เข้าไปเที่ยวในป่า ระยะนี้เป็นหน้าฝน ต้นไม้ต้นหญ้าในป่าสดเขียวงามตา ที่กอไผ่มีหน่อไม้หลายหน่อ ห่างออกไปมีต้นหว้าใหญ่ หมอใหญ่ไปนั่งพักที่ใต้ต้นหว้า ส่วนบะหมี่ดูหน่อไม้ที่กอไผ่ บะหมี่เห็นหมูป่าเดินมา เขาตกใจกล้ว เขาวิ่งไปหาหมอใหญ่ที่ใต้ต้นหว้า

บะหมี่เล่าให้หมอใหญ่ฟังด้วยเสียงดังว่า เขาหนีหมูป่า หมอใหญ่ได้แต่หัวเราะ

บนต้นหว้ามีนกกาเหว่าหลายตัว มันกำลังกินลูกหว้า นกกาเหว่าได้ยินเสียงของบะหมี่  จึงตกใจร้อง "กาเหว่าๆ" แล้วก็บินหนีไป หมอใหญ่พูดว่า นกกาเหว่ามันกลัวเสียงของบะหมี่จึงบินหนี แต่นกกาเหว่าไม่คุยอวดตัวว่ามันไม่กลัวอะไร

แหล่งข้อมูลที่มา    :    เอกสารประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย
                               โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม

Thursday, September 30, 2010

แรงสามัคคี

มดแดงฝูงหนึ่ง ทำรังอยู่บนต้นลำไย ตั้งแต่เช้าจนเย็น มันจะช่วยกันทำงานและหาอาหารมาไว้ในรัง มันจะคอยดูแลและเอาใจใส่ไม่ให้สัตว์อื่นเข้ามาใกล้รังของมัน

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่ฝูงมดแดงกำลังพักผ่อนอยู่ในรัง มดแดงน้อยตัวหนึ่งออกไปเล่นนอกรัง มันกลับเข้ามาในรังและทำหน้าตื่น มันเล่าให้ฝูงมดแดงฟังว่า พบสัตว์ตัวใหญ่ มีขนเต็มตัว มีตาโตน่ากลัวอยู่ใกล้ๆ รัง มดแดงตัวหนึ่งจึงออกไปดู เห็นบุ้งตัวใหญ่กำลังคืบคลานอยู่หน้ารัง ทำท่าจะเข้ามาในรัง มดแดงตัวนั้นจึงบอกให้ฝูงมดแดงมาช่วยกันป้องกันรัง ฝูงมดแดงจึงออกมารุมกัดตัวบุ้ง บุ้งงอตัวหลบหลีกและถอยหนี

ในที่สุด บุ้งก็หล่นลงไปใต้ต้นลำไย ฝูงมดแดงดีใจมาก มดแดงตัวหนึ่งจึงพูดว่า เพราะแรงแห่งสามัคคี เราจึงป้องกันไม่ให้ใตรเข้ามาในรังของเราได้

แหล่งข้อมูลที่มา : เอกสารประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย
โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม


หนังสือนิทานเกี่ยวกับมดที่น่าสนใจ .......

Wednesday, August 25, 2010

เกือบไปแล้ว

สายวันหนึ่ง....ลูกหมูน้อยออกไปเดินเที่ยวในป่าเพียงลำพัง ขณะที่กำลังเพลิดเพลินเก็บดอกไม้ป่าอยู่นั้น...

"อู้ฮู...ดอกไม้ออกดอกสวยสะพรั่งเต็มไปหมดเลย เก็บเอาไปฝากคุณแม่บ้างดีกว่า" ลูกหมูคิด

.....มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมาพบเข้า

"ว้าว! เจ้าลูกหมูนั่นเนื้อแน่นน่าหม่ำเหลือเกิน แหม...อยู่ตัวเดียวเสียด้วยสิ เสร็จเราละ" สุนัขจิ้งจอกคิด

สุนัขจิ้งจอกรีบเดินตรงรี่เข้าไปหาลูกหมูน้อย...

"นี่แน่้่ะ...เจ้าลูกหมูตัวน้อย หันมานี่หน่อยสิ ฉันมีอะไรดีๆ จะให้เจ้าดู" สุนัขจิ้งจอกพูด

ลูกหมูน้อยตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อได้ยินเสียงของสุนัขจิ้งจอก

"จะให้..ผ..ผะ..ผมดูอะไรหรือครับ?" ลูกหมูถาม

"ก็เขี้ยวอันแข็งแกร่งซึ่งพร้อมจะขย้ำเจ้านี่ไงล่ะ...ฮะ ๆ ๆ" สุนัขจิ้งจอบตอบ

แต่ก่อนที่เหตุการณ์ร้ายแรงจะเกิดขึ้น คุณช้างก็ผ่านมาพบเข้าพอดี

"หยุดนะ! นั่นเจ้าจะทำอะไรลูกหมูน้อย...ฮึ?"  ช้างพูด

คุณช้างได้จัดการไล่สุนัขจิ้งจอกจนโกยอ้าวไป

"โอ...ขอบพระคุณมากนะครับ นี่ถ้าคุณลุงไม่ผ่านมาช่วยไว้ ผมคงถูกเจ้าจิ้งจอกเล่นงานไปแล้วแน่ๆ!" ลูกหมูพูด

เฮ้อ! ลูกหมูน้อยเกือบโชคร้ายเสียแล้ว แต่ยังดีที่คุณช้างมาช่วยไว้ได้ทัน น้องๆ ก็เช่นกัน ไม่ควรออกไปเที่ยวที่ไหนตามลำพังนะคะ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

ในสำนวนไทยเรียก ผู้ที่มาช่วยเหลือเราในยามที่กำลังเดือดร้อนได้ทันท่วงที แบบคุณช้างนี้ว่า

"พระมาลัยมาโปรด"


แหล่งข้อมูลอ้า่งอิง    :   เอกสารส่งเสริมการอ่าน ปี 2550
                                โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม
                                

Tuesday, August 24, 2010

สุนัขจิ้งจอกกับแพะ

สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง กระหายน้ำเป็นอันมาก มันเดินซอกซอนหาน้ำดื่มไปจนทั่้ว จนในที่สุดก็พบกับบ่อน้ำหนึ่งเข้า จึงตรงเข้าไปที่บ่อน้ำนั้น อย่างกระหายและคิดที่จะดื่มกินให้สมใจอยาก แต่แล้ว ด้วยความประมาท ร่างของมันก็ตกลงไปในบ่อน้ำ มันพยายามปีนขึ้นมาเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีแพะตัวหนึ่งเดินมาที่บ่อน้ำ เห็นร่างของสุนัขจิ้งจอกลอยคออยู่ในบ่อ จึงร้องถามขึ้นว่า "ท่านลงไปในบ่อนั้นทำไมกันรึ" สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้นก็คิดอุบายขึ้นได้ทันที "ที่ข้าลงมาอยู่ในบ่อนี้ก็เพราะว่าน้ำในนี้มันอร่อยน่ะสิ อร่อยจนข้าคิดที่จะดื่มให้หมดเลย"

"อย่างนั้นเชียวรึ!!!" เจ้าแพะผู้โง่เขลาร้องถาม และด้วยความเชื่อมันเลยกระโดดลงไปในบ่อน้ำนั้นโดยไม่คิดอะไรแม้แต่น้อย สุนัขจิ้งจอกได้โอกาสจึงกระโดดขึ้นไปบนหลังแพะแล้วปีนขึ้นมาจากบ่อน้ำได้ในที่สุด ปล่อยให้เจ้าแพะหน้าโง่ลอยคออยู่ในบ่อน้ำนั้น "ท่านหลอกลวงข้า" เจ้าแพะโง่กล่าว "เพื่อหวังผลประโยชน์จากข้าเท่านั้น!"

"ก็คงใช่" สุนัขจิ้งจอกตอบโต้ "แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะความเขลาของเจ้าเอง ที่กระโดดลงไปโดยไม่คิดแม้แต่น้อย ข้าเชื่อว่าขนที่หนวดบนคางของเจ้าน่ะ มีมากกว่ามันสมองของเจ้าที่มีอยู่น้อยนิดเสียอีก"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :  คนโง่ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  :   ใบงานการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ชุดที่ 2 
                               ป. 5  ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552
                               โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม

Sunday, August 22, 2010

เจ้าไม่ได้ฝากอะไรไว้ที่ข้าเลย

ก่อนที่เด็กหนุ่มจะเดินทางไปต่างจังหวัด ได้ฝากเงินไว้ที่ตาเฒ่าผู้หนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท เมื่อกลับมาจากต่างจัีงหวัดแล้ว เขาไปขอรับเงินคืน แต่ตาเฒ่าปฏิเสธเรื่องเงินฝาก บอกว่า "เจ้าไม่ได้ฝากอะไรไว้ที่ข้าเลย"

เด็กหนุ่มได้ไปขอพึ่งความยุติธรรมจากศาล ผู้พิพากษาเรียกตัวผู้เฒ่าไปที่ศาล "เด็กหนุ่มคนนี้ฝากเงินไว้ที่ท่านใช่ไหม?" ตาเฒ่ายืนกราน "ไม่ได้ฝากไว้ ไม่มีเลย" ผู้พิพาษาจึงถามเด็กหนุ่มว่า "เจ้ามีพยานไหม?" เด็กหนุ่มตอบ "ไม่มีครับ" ผู้พิพากษาถามเด็กหนุ่มต่อไป "ขณะที่เจ้าเอาเงินไปฝากไว้กับตาเฒ่านั้น เจ้าสองคนอยู่ที่ไหน?" "เรานั่งอยู่ที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ครับ" "ทำไมเจ้าบอกว่าไม่มีพยานล่ะ?"...."ต้นไม้ใหญ่เป็นพยานให้เจ้าได้" ผู้พิพากษาพูด

แล้วผู้พิพากษากล่าวเสียงดังว่า "เจ้าจงไปที่ต้นไม้ใหญ่บอกว่าข้าเรียกตัวมาที่ศาล" ตาเฒ่ายิ้มชอบใจ แต่เด็กหนุ่มกลับลังเลใจ กล่าวว่า "ผมกลัวว่าต้นไม้ใหญ่จะไม่ยอมเชื่อหมายศาลของใต้เท้ามากกว่า" ผู้พิพากษาบอกให้วางใจ "เจ้านำแหวน ซึ่งเป็นตราของข้าไปให้ต้นไม้ดู แล้วบอกมันว่าดูซิ นี่เป็นตราของผู้พิพากษานะ ต้นไม้ก็จะต้องมาแน่นอน"

เด็กหนุ่มนำตราของผู้พิพากษาเดินทางไปไ้ด้สักครู่ใหญ่ ผู้พิพากษาก็ถามตาเฒ่าว่า "นี่ ท่านลองกะดูทีซิว่า เจ้าเด็กหนุ่มไปถึงต้นไม้ใหญ่แล้วหรือยัง?" ตาเฒ่าตอบ "อ้อ...คงจะถึงแล้ว"

เด็กหนุ่มเรียกตัวต้นไม้เป็นพยานไม่ได้ผล จึงกลับไปบอกผู้พิพากษาตามความจริง "ผมเอาตราของท่านให้มันดู แต่มันไม่สนใจอะไรเลยครับท่าน" ผู้พิพากษาตอบ "ต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นได้มาแล้วและได้ให้ปากคำต่อหน้าบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว"

ตาเฒ่ารู้สึกตื่นเต้นในขณะนั้น "ใต้เท้าว่าอะไรนะ? ต้นไม้ต้นนั้นไม่ได้มาเลย" "เป็นความจริง มันไม่ได้มาเลย" ผู้พิพากษาประกาศ แล้วกล่าวต่อไปว่า "เมื่อกี้นี้ เราถามท่าน เจ้าหนุ่มไปถึงต้นไม้ใหญ่แล้วหรือยัง?" ท่านก็บอกเราว่า "คงจะถึงแล้ว ถ้าท่านไม่ได้รับเงินจากเจ้าหนุ่มที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ท่านจะต้องถามเราว่า ต้นไม้ต้นไหน? ไกลจากที่นี่มากไหม? คำตอบของท่านเมื่อกี้นี้ จึงพิสูจน์ได้ว่า เด็กหนุ่มพูดความจริง"....ผู้พิพากษาจึงตัดสินให้คืนเงินแก่เด็กหนุ่ม และลงโทษตาเฒ่าอีกด้วย

นิทานจบแล้วค่ะ เห็นไหมคะน้องๆ ว่าการโกงคนอื่นเป็นสิ่งไม่ดี อย่าคิดว่าทำแล้วจะไม่มีใครจับได้นะคะ ถึงไม่มีใครจับได้เราก็ย่อมรู้แก่ใจตัวเองอยู่ดีว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นถูกหรือเปล่า


ผู้แต่ง                    :    พี่อ้อย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง   :    หนังสืออุดมศานต์
                                 ปีที่ 86 เดือน พฤศจิกายน 2549/2006

Saturday, August 21, 2010

แม่มดจอมสกปรก

ครั้งหนึ่ง ยังมีแม่มดตนหนึ่งอาศัยอยู่ในห้องเหม็น อับๆ และสกปรกมากๆ ที่ปราสาทแห่งหนึ่ง

วันหนึ่งแม่มดสั่งให้ลูกสมุนของตนไปจับเด็กมาสิบคน เพื่อเป็นส่วนผสมปรุงยา แม่มดบอกว่าเธอต้องการ เด็กที่สกปรกที่สุด ผมยาวรุงรัง หน้าตาเลอะ ไม่ล้างหน้า เล็บมือเล็บเท้าดำ เพราะไม่ยอมตัดเล็บ มีขี้ฟันเยอะๆ เพราะขี้เกียจแปรงฟัน และเด็กที่ไม่ชอบอาบน้ำ

สมุนของแม่มดออกไปเสาะหาเด็กสกปรกโดยปลอมตัวเป็นสาวสวยใจดีเอาขนมไปให้เด็กๆ กิน เด็กๆ สิบคนกินขนมเข้าไป แล้วสมุนแม่มดก็บอกให้เด็กๆ กลับมาเจอกันอีกภายในสองอาทิตย์

เมื่อเด็กๆ กลับไปที่บ้าน แม่ๆ ของเด็กแต่ละคนก็บอกให้เด็กๆ ไปอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าว เด็กๆ หายไปในห้องน้ำแป็บเดียวก็กลับออกมากินข้าว และก่อนเข้านอน แม่ๆ บอกให้ไปแปรงฟัน แต่เด็กๆ ก็ไม่สนใจ

วันแล้ววันเล่า พวกเด็กๆ ทั้ง 10 คน ก็ไม่ยอมอาบน้ำ แปรงฟัน สระผม ปล่อยให้เล็บมือเล็บเท้าดำสกปรก พ่อแม่และผู้ใหญ่ตักเตือนก็ไม่ฟัง

เมื่อครบ 2 อาทิตย์ สมุนของแม่มดก็มาหาเด็กๆ และรับเด็กๆ ให้ไปที่ปราสาทของแม่มดเพราะมีขนมอร่อยๆ อีกมาก แม่มดบอกเด็กๆ ว่าให้เด็กๆ ไปเล่นในห้อง ในห้องนั้นมีขนม และของเล่นมากมาย เด็กๆ เพลิดเพลินกับของเล่นและกินขนมที่มีสีสันสวยงาม จนถูกแม่มดจับขังรวมกันได้อย่างง่ายดาย

เด็กๆ ต่างตกใจกลัว ร้องไห้หาพ่อแม่กันจ้าละหวั่น เสียงร้องไห้ดังออกมานอกปราสาท โชคดีมีนางฟ้าผ่านมาได้ยินเข้าจึงแวะมาดู เด็กๆ รีบเล่าเรื่องให้นางฟ้าฟัง และขอร้องให้นางฟ้าช่วย

นางฟ้าไม่สามารถเสกให้กรงขังหายไป แต่ก็คิดวิธีช่วยเด็กๆ ได้ เธอจึงเสกสระน้ำ พร้อมสบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม และเสื้อผ้าชุดใหม่ ให้เข้าไปอยู่ในกรง แล้วก็จากไป เด็กๆ ทุกคนพยายามอาบน้ำให้สะอาด เมื่อแม่มดกลับมาที่กรงขังได้กลิ่นสบู่หอมของความสะอาดเข้า ก็ถึงกับเข่าอ่อน ในที่สุดก็ล้มลงขาดใจตาย เวทมนตร์ทั้งหลายก็เสื่อมคลายไป สมุนก็ตายตามไปด้วย

พวกเด็กๆ รีบหนีวิ่งกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสัญญาว่าจะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าและจะรักษาความสะอาด พ่อแม่และผู้ใหญ่ต่างก็ชื่นชม


ผู้แต่ง                      :    พี่อ้อย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง     :    หนังสืออุดมศานต์
                                   ปีที่ 87 เดือน สิงหาคม 2550/2007

ดีหรือไม่ดี....ยากที่จะบอก

นานมาแล้ว มีพระราชาองค์หนึ่ง พระราชาองค์นี้ มีคนสนิทคนหนึ่งที่พระองค์สนิทมาก และมักจะพาไปไหนมาไหนด้วยเสมอในทุกๆ ที่ แล้ววันหนึ่ง พระราชาก็ถูกสุนัขตัวหนึ่งกัดนิ้วจนเป็นแผลฉกรรจ์มาก พระราชาจึงถามคนสนิทว่า นี่เป็นลางไม่ดีของพระองค์หรือเปล่า คนสนิทกลับตอบว่า "ดีหรือไม่ดี ยากที่จะบอก"

และในที่สุด พระราชาก็ถูกตัดนิ้ว และพระราชาก็ถามคนสนิทอีกว่า นี่เป็นลางไม่ดีของพระองค์หรือเปล่า คนสนิทกลับตอบว่า "ดีไม่ดี ยากที่จะบอก" พระราชาโกรธมาก เลยจับคนสนิทขังไว้ในคุก

วันหนึ่ง พระราชาก็ได้เสด็จออกป่าล่าสัตว์ พระองค์ทรงตื่นเต้นมาก แล้วก็มุ่งเข้าไปในป่า ลึกเข้าไปเรื่อยๆ เมื่อมารู้ตัวอีกทีก็พบว่า พระองค์ได้หลงทางเสียแล้ว แต่ก่อนที่อะไรจะเลวร้ายไปกว่านั้น พระองค์ก็ได้พบกับชนเผ่าพื้นเมืองในป่าแห่งนั้น คนป่าพวกนั้นต้องการจับพระราชาไปบูชายัญ แต่พวกเขาพบว่าพระราชานิ้วขาด จึงรีบปลดปล่อยพระองค์ เพราะเชื่อว่าพระราชาไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์เลย และไ่ม่เหมาะที่จะนำไปบูชายัญ พระราชาจึงตัดสินใจกลับพระราชวังในที่สุด

และสุดท้าย พระองค์ก็เข้าใจคำพูดของคนสนิทที่บอกว่า "ดีไม่ดี ยากที่จะบอก" เพราะถ้าพระองค์มีนิ้วครบสมบูรณ์ พระองค์ต้องถูกฆ่าโดยคนป่าพวกนั้นอย่างแน่นอน พระราชาจึงสั่งปล่อยคนสนิท และขอโทษเขา แต่พระราชากลับประหลาดใจ เมื่อคนสนิทกลับไม่โกรธพระองค์เลย ในทางตรงข้ามเขากลับบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรเลยที่ท่านขังข้าไว้ ทำไมงั้นหรือ เพราะว่าถ้าพระองค์ไม่ขังข้าไว้ ข้าก็ต้องตามท่านไปในป่าและในเมื่อท่านไม่เหมาะจะถูกบูชายัญ ข้าคงจะถูกนำไปบูชายัญแทนเป็นแน่

เรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่มีการสรุปได้อย่างแน่นอนว่า "ดี หรือ ไม่ดี" บางครั้งสิ่งที่ดี อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เลวร้าย ในขณะที่สิ่งที่เลวร้ายอาจกลายเป็นดีได้ สิ่งดีๆ อะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นกับเรา จงสนุกสนานกับมัน แต่อย่าไปยึดติดกับมัน จงคิดเสียว่ามันเป็นสิ่งที่มาสร้างความประหลาดใจให้กับชีวิตของเรา อะไรต่างๆ ที่มันเลวร้าย ซึ่งเกิดขึ้นกับเรา เราไม่จำเป็นต้องไปเศร้าเสียใจ สุดท้าย มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้เราอาจจะพบว่า การใช้ชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย


ผู้แต่ง                     :    พี่อ้อย

แหล่งข้อมูลที่มา       :     หนังสืออุดมศานต์
                                  ปีที่ 86 เดือน กันยายน 2549/2006

ว่าง่าย

ครั้งหนึ่งมีชาย 2 คนชื่อ จอม กับ จิต เป็นเพื่อนกัน จอมมีเรืออยู่ลำหนึ่ง วันหนึ่งเกิดน้ำท่วม จิตจึงขอนั่งไปกับเรือของจอม โดยจิตนั่งอยู่หัวเรือ ส่วนจอมนั่งอยู่ท้ายเรือ และเป็นคนพายเรือไป

เมื่อพายเรือไปได้สักพักหนึ่ง เรือก็รี่ตรงไปจะชนต้นไม้ จิตตกใจกลัวก็บอกว่า "ซ้ายหน่อยๆ" จอมก็พายงัดเล็กน้อย เรือก็ไม่ชนต้นไม้ พายรอดไปได้

เมื่อพายต่อไปเรือก็ตรงรี่จะไปชนบ้าน จิตเห็นดังนั้นตกใจ ร้องบอกว่า "ขวาหน่อยๆ" จอมก็พายงัดเล็กน้อย เรือก็รอดไปได้โดยไม่ชนบ้าน

จิตเลยเกิดสงสัยจึงถามจอมว่า "นี่เรือทำด้วยอะไรนะถึงว่าง่ายอย่างนี้" "ทำด้วยไม้ตะเคียนนะซิ" จอมตอบ

เมื่อจิตกลับถึงบ้านก็บอกกับครอบครัวว่า "นี่ไม้ตะเคียนนี่ว่าง่ายจัง ฉันอยากจะขุดเรือจากไม้ตะเคียนสักลำ ที่ข้างบ้านเรามีไม้ตะเคียนอยู่ต้นหนึ่ง เดี๋ยวฉันจะไปโค่นมาขุดทำเรือนะ"

คนในครอบครัวก็บอกว่า "มันจะทับบ้านพังนะ" "ไม่ทับหรอก ไม้ตะเคียนมันว่าง่ายจะตาย" จิตรีบอธิบายสรรพคุณของต้นตะเคียน

ว่าแล้วจิตก็คว้าขวานไปฟันต้นตะเคียนทันที ฟันไปๆ จวนจะขาด มันก็ค่อยๆ เอนลงจะทับบ้าน จิตก็ยืนโบกมือร้องตะโกนไปว่า "ซ้ายหน่อยๆ" ต้นตะเคียนก็ล้มโครมลงทับหลังคาบ้านพังไปเรียบร้อย จิตก็บ่นในใจว่า "เอ๊ะ! ต้นตะเคียนบ้านเรานี่ มันทำไมจึงดื้อจัง ไม่เหมือนต้นตะเคียนของจอมเลย ว่าง่ายแท้ๆ"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเข้าใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือการหลงเชื่อในสิ่งที่ผิดๆ จะนำมาซึ่งความหายนะ ฉะนั้น ก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยใช้เหตุผล


ผู้แต่ง               :   พี่อ้อย

แหล่งข้อมูลที่มา :    หนังสืออุดมศานต์
                            ปีที่ 87 เดือน มกราคม 2550/2007

เพื่อน 4 ตัว

ณ ป่าแห่งหนึ่งมี กบ ม้า เต่า และค้างคาว เป็นเพื่อนรักกัน สัตว์ทั้ง 4 ต่างช่วยกันทำมาหากินมาโดยตลอด จนมาวันหนึ่งเจ้าจระเข้ผู้เป็นใหญ่ในบึงประจำป่า จัดงานฉลองครบรอบ 40 ปีที่มันมาอาศัยอยู่ ณ บึงแห่งนี้ สัตว์ทั้ง 4 พากันมาร่วมงาน โดยมี กบ เต่า และค้างคาว ขี่่หลังม้าเพื่อนรักมา เจ้าจระเข้เห็นสัตว์ทั้ง 4 มาร่วมงาน จึงเข้าไปทักทายในฐานะเจ้าภาพ จระเข้เข้าไปทักทายกับเต่า เพราะตนเคยพบกับเต่าหลายครั้งที่ข้างบึงจึงมีความคุ้นเคยมากกว่าสัตว์ตัวอื่ืน

"นี่ เจ้าเต่าน้อย เจ้านี่มัีนโชคดีจริงๆ ที่มีเพื่ีอนแบบนี้ ไปไหนก็คล่องให้เจ้าม้าพาไป จะว่ายน้ำก็ใช้ให้เจ้ากบไปแทน ดึกๆ อยากกินอะไรก็ให้เจ้าค้างคาวบินไปเอาให้ ข้าอยากรู้นัก ทำไมพวกมันจึงยอมให้เจ้าเอาเปรียบขนาดนี้" เจ้าจระเข้กล่าวเหน็บแนม ก่อนจะเดินจากไป

หลังจากเลิกงาน เจ้าเต่านั่งเศร้าด้วยความรู้สึกผิดที่ไม่ค่อยจะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนได้เท่าไหร่โดยมีสัตว์อีก 3 ตัวซึ่งนั่งช่วยปลอบว่า "ไม่เป็นไรหรอก ก็เราเพื่อนกันนี่นา แกก็ไม่ได้ตัวหนักซะหน่อย" เจ้าม้าพูด "อืม... ที่ทำไปพวกเราก็เต็มใจทั้งนั้น" เจ้าค้างคาวพูด เจ้าเต่ารู้สึกดีขึ้น

15 ปี ผ่านไป สัตว์ทั้ง 3 เริ่มแก่ตัวลง มีเพียงเจ้าเต่าที่ดูหนุ่มแน่นขึ้นทุกวัน วันนี้เป็นวันเกิดของเจ้าเต่า ทั้ง 4 ตัวมานั่งคุยกัน เจ้าม้าเป็นผู้เริ่มบทสนทนา

"ข้ามันแก่ตัวลงทุกวัน จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้" เจ้าม้ากล่าวถึงสภาพของตัวเอง

"ข้าก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเจ้าเท่าไหร่หรอก ไม่รู้ว่าข้าจะตายแล้วลูกหลานข้านับร้อยตัวจะเป็นยังไงมั่ง"
เจ้ากบก็พูดในทำนองเดียวกัน

เจ้าค้างคาวพูดบ้าง "เจ้าเต่า พวกเราคงต้องฝากเจ้าแล้วล่ะ พอพวกเราตาย เจ้าต้องคอยดูแลลูกหลานให้พวกเราด้วยนะ"

"ถึงพวกเจ้าไม่บอก ข้าก็ต้องทำ" เจ้าเต่าพูดอย่างมั่นใจ

บางครั้ง "เวลา" จะเป็นเครื่องวัดคุณค่าของคน


ผู้แต่ง              :   นายวงศกร ใจฮวบ
                          ชั้น ม. 6/1 โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกมัธยม

แหล่งข้อมูลที่มา:   หนังสืออัสสัมชัญสาส์น
                          ศตวรรษที่ 2 ปีที่ 18 ฉบับที่ 126 เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ. 2547

Wednesday, August 18, 2010

ช้างตาเล็กกับเสือตัวลาย

ยังมีเสือหนุ่มตัวหนึ่งดุร้ายมาก วันหนึ่งออกไปหากินตามปกติ ขณะที่มันสอดส่ายสายตาหาเหยื่ออยู่นั้น มันก็เห็นช้างตัวหนึ่งกำลังยืนอยู่ใต้ต้นไม้ จึงวางแผนที่จะจับช้างให้ได้ แล้วเสือก็เดินตรงไปหาช้างทันที

ฝ่ายช้างเมื่อเห็นเสือเดินตรงมาหา จึงทำใจดีสู้เสือ แล้วพูดกับเสือไปว่า "สวัสดี เจ้าเสือผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าจะไปไหนหรือ"  "ฉันก็จะมาจับเจ้าไปเป็นอาหารนะสิ" เสือตอบ "ช้าก่อน เจ้าคงไม่รู้หรอกว่าตอนนี้ฉันไม่ได้เป็นอิสระแล้ว ฉันเป็นเชลยอยู่" ช้างพูด เสือตอบว่า "อย่ามาหลอกกันเลย เจ้าตัวใหญ่ออกอย่างนี้ ใครจะกล้ามาจับเจ้าเป็นเชลยได้ นอกจากฉันเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่" ช้างตอบว่า "นี่ไงเห็นมั้ย ขาของฉันถูกล่ามโซ่อยู่กับต้นไม้ก็เพราะฉันตกเป็นเชลยของมนุษย์" ช้างพูดพร้อมยกขาที่ถูกล่ามโซ่ให้เสือดู

"อะไรก้ันมนุษย์ตัวเล็กนิดเดียว ยังจับเจ้าล่ามโซ่ได้หรือ" เสือถามอย่างสงสัย "ก็ใช่นะซิ มนุษย์ตัวเล็กๆ นี่แหละ ถึงจะไม่มีเขี้ยวเล็บ ไม่มีเขาหรืองา แต่มนุษย์มีปัญญา" ช้างตอบยืนยัน เสือพอได้ยินช้างพูดถึงคำว่า "ปัญญา" ก็สนใจ จึงถามช้างว่า "แล้วปัญญามันวิเศษขนาดไหนเชียว ถ้าฉันเจอละก็จะจับกินเสียให้เข็ด"

"ปัญญาของมนุษย์ก็อยู่ที่ตัวมนุษย์สิเจ้าเสือเอ๋ย ถ้าเจ้าอยากเห็นจริงๆ ละก็ รีบแก้โซ่ที่ผูกขาฉันออกสิ แล้วฉันจะพาไปดู" "ได้เลย" เสือพูด แล้วตรงเข้าไปแก้โซ่ที่ผูกขาช้างออก แล้วช้างก็เดินนำหน้าเสือ มุ่งสู่บ้านมนุษย์ทันที

เมื่อถึงบ้านมนุษย์แล้ว ช้างก็ตะโกนเรียกมนุษย์ให้ออกมาพบกันข้างนอก ฝ่ายมนุษย์ไม่รู้ว่าใครมาเรียกก็ออกมาจากบ้านโดยที่ไม่ได้ระวังตัว ทันใดนั้นเสือซึ่งรอจังหวะอยู่แล้ว จึงตะครุบตัวมนุษย์ไว้ในกรงเล็บอย่างง่ายดาย

มันหัวเราะเยาะด้วยเสียงอันดัง ที่สามารถเอาชนะมนุษย์ผู้พิชิตช้างได้ เสือจึงหันไปพูดกับช้างว่า "เจ้าช้าง ไหนเจ้าว่ามนุษย์มีปัญญาเก่งกล้า ยังไม่ทันได้ต่อสู้เลย ฉันก็จับมันได้แล้ว และฉันจะกินมันเสียเดี๋ยวนี้แหละ"

มนุษย์เมื่อได้ยินเสือพูดอวดตัวเช่นนั้น ก็ใช้ปัญญาของตนต่อสู้กับเสือทันที โดยพูดกับเสือว่า "ช้าก่อนเจ้าเสือ ถ้าเจ้ากินฉันตอนนี้ เจ้าก็จะไม่มีโอกาสเห็นตัวปัญญาของฉันเลย" เสือได้ยินดังนั้นก็หยุดชะงัก แล้วถามมนุษย์ไปว่า

"ไหนละเจ้าตัวปัญญาของเจ้า ก่อนตายเอาออกมาอวดฉันหน่อยเป็นไง" "ได้ซิ ถ้าเจ้าอยากดู แต่ตัวปัญญาของฉันอยู่ในบ้าน ถ้าอยากเห็น เจ้าต้องปล่อยฉันก่อน ฉันจะได้จูงมัีนออกมาให้เจ้าดู"

ฝ่ายเสืออยากเห็นตัวปัญญา จึงหลงกลปล่อยมนุษย์ไป มนุษย์เมื่อถูกปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว ก็วางแผนจัดการกับเสือทันที โดยพูดขู่เสือไปว่า "ระวังนะเจ้าเสือ ตัวปัญญาของฉันมันตกใจง่าย ถ้ามันเห็นเจ้าเข้า มันจะวิ่งหนีเข้าบ้าน แล้วจะไม่ยอมออกมาอีกเป็นอันขาด" "แล้วเจ้าจะให้ฉันทำอย่างไร" เสือถาม "ไม่ยาก เจ้ามาให้ฉันจับมัดไว้กับต้นไม้เสียก็สิ้นเรื่อง" มนุษย์เสนอความคิด "ตกลง" เสือตอบ

มนุษย์ก็จัดการมัดเสือไว้กับต้นไม้ แล้วก็เดินเข้าไป และออกมาพร้อมกับหวายในมือ เสือเห็นมนุษย์ถือหวายออกมาก็แปลกใจ จึงถามว่า "ไหนละตัวปัญญาของเจ้า ไม่เห็นจูงออกมาให้ฉันดู" มนุษย์ชูหวายขึ้นแล้วพูดว่า "นี่ไงละตัวปัญญาของฉัน" "นั่นมันหวายจะเป็นตัวปัญญาได้อย่างไร" เสือแย้ง "นี่แหละตัว 'ปัญญา' ของฉัน เจ้ามันอวดเก่งนัก ฉันจะสั่งสอนให้รู้สำนึกเสียบ้าง"

พอมนุษย์พูดขาดคำ ก็หวดเสือด้วยหวายอย่างมันมือ จนนับครั้งไม่ถ้วน ฝ่ายช้างที่ยืนดูอยู่ใกล้ๆ ได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ก็หัวเราะด้วยความชอบใจเพราะตัวปัญญาของมนุษย์ มนุษย์ไม่เพียงรอดชีวิต มันเองก็รอดชีวิตด้วย ช้างหัวเราะใหญ่ หัวเราะเสียจนน้ำตาไหลพรากอาบแก้ม ดวงตาของช้างเลยเล็กลง เล็กลง เหลือเท่าที่เห็นจนทุกวันนี้

ฝ่ายเสือเมื่อถูกโบยด้วยหวายก็เจ็บปวดแสนสาหัส ดิ้นทุรนทุรายไปมาจนเชือกขาด มันจึงวิ่งหนีอย่างสุดชีวิต จนถึงบัดนี้เสือก็ยังไม่รู้ว่าปัญญาของมนุษย์คืออะไร เสือเดินโซซัดโซเซ ไปขอความช่วยเหลือจากสัตว์ในป่าให้ช่วยรักษารอยแผลจากการถูกโบยด้วยหวาย แต่ไม่มีสัตว์ใดช่วยเหลือเจ้าเสือ มีแต่จะสมน้ำหน้า เสือจึงได้หลบหน้าสัตว์อื่นๆ ฉะนั้นตามร่างกายของเสือเป็นรอยหวายที่ถูกหวดจากมนุษย์ผู้มีปัญญา นับตั้งแต่นั้นมาเสือจึงมีลวดลายบนตัวของมันอย่างที่เห็นทุกวันนี้


ผู้แต่ง                      :   พี่อ้อย

แหล่งที่มาของข้อมูล   :   อุดมศานต์
                                  ปีที่ 87 เดือนมิถุนายน 2550/2007

Friday, August 13, 2010

ยักษ์วิเศษ

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายตัดฟืนอาศัยอยู่ในป่า ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต วันหนึ่งมีเทวดามาปรากฎตัวต่อหน้าชายตัดฟืน "เราจะมอบของล้ำค่า เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนที่เจ้าเป็นคนดี มันคือ ยักษ์วิเศษ"

เทวดากล่าวว่า "เจ้ายักษ์คนนี้มีความสามารถสูง มันเกิดมาเพื่อทำงาน มันสามารถทำงานให้เจ้า่ได้ทุกอย่าง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมันทำงานได้เร็วมากเลย"

"แต่..." เทวดาเว้นวรรคเล็กน้อยแล้วกล่าวต่อ "เจ้าต้องระวังหากไม่สามารถหางานให้มันทำได้ละก็ มันจะกลับมาเล่นงานเจ้าเอง มันจะเล่นงานเจ้า่ถึงตายเชียวนะ" ชายตัดฟืนได้มอบหมายงานให้ยักษ์ไปทำความสะอาดบ้านที่รกรุงรัง ตัวเขาเองก็กระหยิ่มใจที่ได้พัก ขณะที่เขากำลังจะเอนตัวลงงีบก็ได้ยินเสียงดังชัดเจนข้างๆ หู ว่า "นายๆ ข้าทำความสะอาดบ้านเสร็จแล้ว มีอะไรให้ข้าทำอีก" ชายตัดฟืนกวาดสายตาไปรอบๆ บ้านอย่างไม่เชื่อสายตาตัวเอง บ้านสะอาดหมดจดอย่างไม่มีที่ติ เขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสั่งให้ยักษ์ไปตัดฟืนที่เขาทำค้างไว้เป็นงานชิ้นใหญ่ที่ทำให้เขาพอมีเวลาพักผ่อน

จากนั้นชายตัดฟืนได้ไปปรึกษาท่านผู้รู้ประจำหมู่บ้าน เจ้ายักษ์เสร็จงานผ่าฟืนพอดี "นายๆ ข้าผ่าฟืนเสร็จแล้วมีอะไรให้ข้าทำอีก" น้ำเสียงของเจ้ายักษ์ส่อเลศนัยว่ามันจะได้กินชายตัดฟืนเป็นอาหารแน่ๆ ชายตัดฟืนเริ่มทำตามแผนทันที

เขาสั่งให้ยักษ์พาตนไปยังต้นไม้สูงกลางป่า ณ ต้นไม้นั้นเขาสั่งให้เจ้ายักษ์ช่วยลิดกิ่ง ลิดใบออกจนหมด ต้นไม้สูงต้นนี้จึงดูเหมือนเสาโล้นๆ ต้นหนึ่ง "นับจากนี้ไป" ชายตัดฟืนกล่าว "เมื่อใดที่เจ้ายืนอยู่ที่โคนต้น งานของเจ้าคือให้ปีนขึ้นไปจนสุดปลายยอดไม้" เขาเว้นวรรคเล็กน้อย ก่อนที่จะกล่าวต่อ "และเมื่อใดที่เจ้าอยู่ปลายยอดไม้ งานของเจ้าคือให้ปีนลงมายังโคนต้นไม้"

คำสั่งนี้ทำให้เจ้ายักษ์ทำงานเป็นวงจรอันไม่รู้จบ ผลก็คือเมื่อใดที่ชายตัดฟืนมีงานให้ทำ เขาก็เรียกเจ้ายักษ์มาใช้ ครั้นเมื่องานเสร็จสิ้นลงเขาก็ใช้ให้เจ้ายักษ์ไปปีนต้นไม้

ยักษ์วิเศษตนนี้ก็คือ ความคิดของมนุษย์นั่นเอง น้องๆ เชื่อไหมคะว่าความคิดของเราเป็นสิ่งที่มีความสามารถสูง เป็นสิ่งที่เร็วยิ่ง บ่อยครั้งที่เราพบว่าความคิดนี่แหละ กลับมาเล่นงานเราเสียเอง บางคนคิดมากจนบั่นทอนสุขภาพ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักที่จะใช้ความคิดของตนเองให้เกิดประโยชน์ค่ะ


ผู้แต่ง                 :   พี่อ้อย

แหล่งที่มา           :    อุดมศานต์
                              ปีที่ 87 เดือน กุมภาพันธ์ 2550/2007

หมอนวิเศษ

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในประเทศจีนมีชายชาวนาคนหนึ่งชื่อ "อาเฉิน" กำลังนั่งกินอาหารอยู่ในโรงเตี๊ยม ก็ได้มีพ่อค้าเร่คนหนึ่งเดินมาทักทายเขาว่า "พ่อหนุ่ม ทำมาหากินเป็นอย่างไร?" "ไม่ไหวเลยครับ ทำงานเท่าไหร่ก็ยังจน" อาเฉินตอบ "พ่อหนุ่มไม่พอใจวิถีชีวิตของตนเองหรือ?" พ่อเฒ่าสอบถาม "จะให้ฉันพอใจได้อย่างไรในเมื่อฉันต้องทำงานหนักทั้งวัน ถ้าได้เป็นเศรษฐีฉันจึงจะพอใจ" อาเฉินกล่าว พ่อเฒ่านิ่งงันไม่พูดอะไร ก่อนจากกันพ่อเฒ่าได้ยื่นห่อผ้าในมือให้อาเฉิน และพูดขึ้นว่า "พ่อหนุ่ม ฉันต้องเดินไปหมู่บ้านข้างเคียง พรุ่งนี้เช้าจึงจะกลับ ฝากหมอนใบนี้ไว้ได้ไหม? หมอนใบนี้หนุนนอนสบายดี เธอจะใช้หมอนใบนี้หนุนหัวในคืนนี้ก็ได้" อาเฉินรับคำจะเก็บรักษาหมอนไว้ให้ ทั้งสองจึงแยกจากกัน

ในคืนนั้น อาเฉินใช้หมอนของพ่อเฒ่าหนุนนอน เมื่ออาเฉินตื่นขึ้นมาก็พบว่ามีแท่งเงิน แท่งทองเต็มไปหมด "รวยแล้ว ในที่สุดเราก็รวยแล้ว" อาเฉินตะโกนสุดเสียงด้วยความดีใจ "ฉันจะสร้างคฤหาสน์หลังงาม ฉันจะซื้อทุกอย่างที่ฉันต้องการ" อีกไม่นานคฤหาสน์ของเขาก็เสร็จ ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา อาเฉินเป็นมหาเศรษฐีไปแล้ว เขาไม่ปรารถนาจะลดตัวลงไปเสวนากับคนจน ดังนั้นเขาจึงปิดคฤหาสน์อาศัยอยู่ในนั้นตามลำพัง

อยู่มาไม่นานอาเฉินก็เบื่อหน่าย "ขาดอะไรไปสักอย่าง อ๋อรู้แล้ว สวนของฉันว่างเปล่านั่นเอง" เขาจึงสั่งให้คนงานหาดอกไม้หลากสีสันงดงามที่สุดเท่าที่จะหาได้ และต้นไม้ใหญ่มาปลูกไว้ในสวน ขุดสระเลี้ยงปลา แต่แล้วอาเฉินยังรู้สึกเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว "จะต้องขาดอะไรไปสักอย่าง อ๋อรู้แล้ว บ้านหลังนี้เงียบเกินไป" อาเฉินจึงว่าจ้างนักดนตรี นักเต้นรำมาขับกล่อมให้ความบันเทิง แต่แล้วต่อมาไม่นาน อาเฉินก็รู้สึกเบื่อกับการร้องรำ เขาจึงไล่นักดนตรี นักเต้นรำออกจากบ้านไป อาเฉินรู้สึกเหงาหงอยอ้างว้าง "อืม...สิ่งที่ฉันต้องการคือภรรยาสักคน...ใช่แล้ว" อาเฉินส่งคนรับใช้ไปป่าวประกาศกลางหมู่บ้าน หญิงใดที่ยังเป็นโสดขอให้มาชุมนุมที่หน้าคฤหาสน์ของเขาในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อให้เขาเลือกเป็นภรรยา แต่ไม่มีหญิงใดโผล่หน้ามาให้เห็นในเช้าวันถัดมา อาเฉินรู้สึกโกรธ "ฉันไม่เห็นต้องการเลย อยู่คนเดียวก็ได้" 

อยู่มาวันหนึ่ง อาเฉินตัดสินใจลงจากเขา อาเฉินนั่งเกี้ยวงดงาม มีคนรับใช้สี่คนหาม แต่อาเฉินต้องประหลาดใจเมื่อผู้คนในหมู่บ้าน ไม่มีใครสนใจเขาเลย เมื่อเขาผ่านโรงเตี๊ยมเก่าเขาได้ยินเสียงผู้คนทักทายกันสลับกับเสียงหัวเราะเป็นระยะ เขามองเห็นเพื่อนเก่าซดข้าวต้มร่วมกัน แม้คนเหล่านั้นจะยากไร้ แต่ก็มีความสุขยิ่ง

อาเฉินหวนกลับมายังคฤหาสน์อ้างว้าง นั่งครุ่นคิดอยู่เป็นนาน เขากลายเป็นมหาเศรษฐีแล้ว แต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตแสนสบายแต่อ้างว้าง อาเฉินอยากจะกลับไปเป็นชาวนาสามัญเช่นเดิม แล้วเขาก็เผลอหลับไป เมื่ออาเฉินลืมตาขึ้นอีกครั้ง ก็พบว่าตนเองอยู่ห้องเก่าซอมซ่อทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิม อาเฉินเพิ่งรู้ว่าตัวเองฝันไป เขาจึงวิ่งออกจากกระท่อมหัวเราะร่าด้วยความยินดี อาเฉินร้องทัีกทายชาวนาที่เดินผ่าน เหมือนกับเพื่อนรักที่หายหน้าไปนาน ตอนสายของวันชายชราเจ้าของหมอนก็ได้มาหาอาเฉิน "เป็นอย่างไรพ่อหนุ่ม เมื่อคืนฝันดีหรือไม่" อาเฉินวิ่งกลับเข้าบ้าน หยิบเอาหมอนห่อผ้าให้เรียบร้อย ยื่นคืนให้เจ้าของ "ขอบพระคุณท่านเป็นอย่างมากที่ให้ยืมหมอนใบนี้ ฉันเพิ่งได้บทเรียนล้ำค่าของชีวิต... "เราควรพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี" อาเฉินหยิบจอบขึ้นพาดบ่า เดินผิวปากออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังท้องนา พ่อเฒ่าอมยิ้ม และออกเดินทางต่อไป


ผุ้แต่ง             :     พี่อ้อย

แหล่งที่มา       :       อุดมศานต์ 
                          ปีที่ 86 เดือน ธันวาคม 2549/2006

Sunday, June 27, 2010

นางนกไส้กับช้าง

อดีตกาลนานมาแล้ว ก่อนที่จะบังเกิดมีพระพุทธเจ้า ในอดีตชาติก่อนนั้นพระพุทธองค์ได้เกิดเป็นพญาช้างสาร มีเหล่าช้างมากมายเป็นบริวารอาศัยอยู่ในป่าหิมวันต์ และในครั้งนี้มีนางนกไส้ตัวหนึ่งทำรังวางไข่อยู่บนพื้นดิน ต่อมาไข่นั้นได้แตกออกกลายเป็นลูกนก 2 ตัว

วันหนึ่งพญาช้างสารได้พาบริวารเดินผ่านมา เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นสร้างความตกใจแก่นางนกไส้ยิ่งนัก ด้วยรังและลูกเล็กของนางนั้นอยู่ในเส้นทางที่ฝูงช้างจะเดินผ่าน นางจึงบินไปขอร้องอ้อนวอนต่อพญาช้างสาร

"ข้าแต่ท่านพญาช้างผู้ประเสริฐ ขอได้โปรดเมตตาพาบริวารเดินเลี่ยงไปยังเส้นทางอื่นเถิด ด้วยรังและลูกอ่อนของข้าพเจ้านั้นอยู่่ในทิศเส้นทางที่พวกท่านจะเดินทางผ่าน ลูกของข้าพเจ้านั้นก็ยังเล็กยิ่งนักไม่สามารถที่จะบินหลีกหนีไปได้ ขอท่านได้โปรดเมตตาแก่ข้าพเจ้าและลูกด้วยเถิด"

พญาช้างได้ฟังก็เกิดความเมตตาแก่นางนกไส้ จึงสั่งให้นางบินไปกางปีกกกลูกเล็กเอาไว้ แล้วตนก็เดินนำหน้าช้างบริวารไปยืนคร่อมรังนก มิให้ช้างตัวใดเดินมาเหยียบได้ เมื่อบริวารผ่านไปหมดแล้วพญาช้างจึงเดินตามไปทีหลัง และได้หันมากล่าวแก่นางนกไส้ว่า

"ดูก่อนนางนกไส้ เจ้าและลูกนั้นยังหาปลอดภัยไม่ ด้วยยังมีช้างโทนตัวหนึ่งซึ่งมิได้เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทที่เราจะห้ามปรามได้กำลังตามมา นางจงรีบไปใช้ความพยายามอ้อนวอนช้างโทนตัวนั้นให้ดีเถิด"

นางนกไส้กล่าวขอบคุึณพญาช้างสาร แล้วรีบบินไปดักหน้าช้างโทนตัวนั้นซึ่งกำลังติดตามมา พลางประนมปีกขึ้นกล่าววิงวอน

"ข้าแต่ท่านช้างโทนเจ้าขา รังและลูกอ่อนซึ่งยังไร้ขนมิสามารถจะบินได้ของข้าพเจ้านั้นอยู่ในเส้นทางที่ท่านจะต้องเดินผ่่าน ขอได้โปรดกรุณาต่อสัตว์ผู้ยากตัวเล็กอย่างข้าและลูกๆ เดินเลี่ยงไปยังเส้นทางอื่นเถิด"

ช้างโทนได้ฟังนางนกไส้ขอกลับตวาดไปอย่างไร้เมตตา

"ชิชะนางนก เจ้าเป็นแค่สัตว์ตัวเล็กๆ ไร้กำลัง บังอาจถือดีอย่างไรจึงมาสั่งข้า แล้วเหตุใดข้าจะต้องหลบ ก็ในเมื่อรังและลูกของเจ้านั้น อยากมาอยู่ระหว่างทางเดินของข้าเอง"

ว่าแล้วช้างโทนใจร้ายตัวนั้นก็เดินตรงเข้าเหยียบรังและลูกนกทั้ง 2 ตัวแหลกละเอียดเป็นจุล นางนกไส้เห็นดังนั้นก็หวีดร้องราวกับหัวใจจะแหลกสลายตามไปด้วย

"ดูรึเจ้าช้างโทน ถือตนว่าตัวโตมีกำลังมาก แต่กลับข่มเหงต่อสัตว์ผู้ด้อยกำลังกว่าอย่างไร้เมตตา เจ้าจะต้องได้รับการตอบแทนต่อผลกรรมที่ทำในครั้งนี้อย่างสาสม และได้รู้ว่ากำลังปัญญานั้นเหนือกว่ากำลังกายแค่ไหน"

แต่แทนที่ช้างโทนจะสำนึก กลับพูดจาโอหังดูถูกนางนกต่อไปอีกว่า

"ชิชะนางนกไส้ รังและลูกของเจ้าพึ่งถูกข้าเหยียบป่นไปยังมิเจีัยมตัวมากล่าวสอน ข้าก็อยากรู้นักว่าสัตว์ตัวเล็กด้อยกำลังอย่างเจ้า จะใช้ปัญญาอย่างใดมาหาญสู้กับกำลังอันมหาศาลของข้าได้"

ว่าแล้วช้างโทนใจร้ายก็หัวเราะลั่นเดินจากไป

นางนกไส้คับแค้นใจยิ่งนัก จึงบินไปหากา, แมลงวันหัวเขียวและกบ ซึ่งเป็นสหาย พลางเล่าความแค้นให้ฟัง สัตว์ทั้ง 3 ได้ฟังก็เจ็บแค้นแทนเพื่้อนยิ่งนัก รับอาสาจะช่วยแก้แค้นให้

กาบินไปเกาะกิ่งไม้ดักหน้าช้างโทนซึ่งเดินผ่านมา เมื่อได้โอกาสก็บินตรงไปใช้ปากที่แข็งและแหลมโขกจิกลูกตาทั้งสองข้างของช้างโทนจนแตก ส่งเสียงร้องลั่นป่าด้วยความเจ็บปวด

แมลงวันหัวเขียวซึ่งบินตามมาฉวยโอกาสบินตรงไปหยอดไข่ใส่ตาที่แตกทั้งสองข้างทันที และไข่นั้นก็กลายเป็นตัวหนอนเจาะไชตาช้างโทนจนเน่าถลน ได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นไปอีก

ช้างโทนซึ่งกลายเป็นช้างตาบอด ได้ซัดเซเร่ร่อนไปในป่าด้วยความยากลำบาก จนเหน็ดเหนื่อยและเกิดความกระหายน้ำยิ่งนัก เหล่ากบจึงพากันขึ้นไปบนเข่าและส่งเสียงร้องลั่นตรงบริเวณหน้าผา ช้างโทนได้ยินเสียงกบร้องก็สำคัญผิดคิดว่าบริเวณนั้นต้องเป็นหนองน้ำแน่ๆ จึงตามเสียงไป และก็พลัดตกหน้าผาถึงแก่ความตายในที่สุด

เมื่อแก้แค้นช้างโทนได้แล้ว สัตว์ทั้งหลายต่้างก็แยกย้ายกลับไปยังถิ่นที่อยู่ของตน นางนกไส้กล่าวขอบคุณเหล่าสหายก่อนที่จะบินจากไปหาที่สร้างรังใหม่

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
เอกสารประกอบส่งเสริมการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม

Saturday, June 26, 2010

นิทานบ้านไร่ชายทุ่ง ตอน นับหนึ่งถึงสิบ




จู่ๆ บรรดาสัตว์ต่างๆ ที่หมู่บ้านชายทุ่งก็เกิดมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นลงไม้ลงมือกับเหล่าสัตว์ในหมู่บ้านจิ๊งโกร่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ เจ้ามอซึ่งเป็นลูกพี่จึงต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีคอยตักเตือนห้ามปรามพวกของตนให้ใจเย็น อย่าอารมณ์ร้อนไปตอบโต้ แต่แล้ววันหนึ่ง เจ้าโต้งก็เดินมาด้วยสภาพปูดจนเกือบห้อย เจ้ามอจึงถามขึ้น

 "นี่ไปชกต่อยกับพวกหมู่้บ้านจิ๊งโกร่งมาอีกแล้วเหรอเจ้าโต้ง"

เจ้าโต้งยืนกัดฟันนิ่งไม่ตอบ เจ้ามอจึงพูดต่อ

"ฉันเตือนแล้วไม่ใช่เหรอเจ้าโต้ง ว่าให้รู้จักควบคุมอารมณ์ มีอะไรก็ให้นับหนึ่งถึงสิบก่อน จำไม่ได้เหรอ"

คราวนี้เจ้าโต้งกลับตะโกนใส่เจ้ามอเสียงดัง

"จำได้ซี ทำไมจะจำไม่ได้ แต่พวกหมู่บ้านจิ๊งโกร่งเขาสอนให้นับแค่ห้า ฉันก็เลยถูกต่อยก่อนจนตาปูดนี่ไง"


แหล่งที่มา  :    เอกสารส่งเสริมการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
                       โรงเีรียนอัสสัมชัญแผนกประถม

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/397442735847328296/

กระต่ายน้อยกับต้นไม้


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีกระต่ายน้อยตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ บนท้่องฟ้า บ้านของกระต่ายน้อยปกคลุมด้วยกองฟางที่อ่อนนุ่ม ทุกๆ เช้ากระต่ายน้อยจะโผล่ออกมาทักทายหนูแก้ว แล้ววันนี้ก็เช่นเคย กระต่ายน้อยร้องทัก


"สวัสดีจ้ะหนูแก้ว กำลังทำอะไรอยู่จ้ะ"

"หนูแก้วกำลังวิ่งไล่จับแมลงอยู่จัะ กระต่ายน้อยมาจับแมลงกับหนูแก้วไหมจ้ะ"

"ไม่หรอกจ้ะ กระต่ายน้อยขอสมัครเป็นคนดูดีกว่า"

เช้าวันหนึ่ง หนูแก้วนั่งหน้าเศร้า ไม่ไปวิ่งเล่นเหมือนเคย กระ่ต่ายน้อยโผล่หน้าออกมาดู เห็นผิดสังเกตจึงร้องทักว่า

"หนูแก้วเป็นอะไรไปจ้ะ"

หนูแก้วพูดว่า "หนูแก้วไม่สบายใจเรื่องต้่นไม้ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ต้นไม้เกิดเหี่ยวเฉาตายไปเกือบหมดป่า"

กระต่ายน้อยได้ยินจึงตอบว่า "เดี๋ยวกระต่ายน้อยจะช่วยหนูแก้ว รออยู่ตรงนี้นะ"

กระต่ายน้อยกระโดดไปบนบ้านบนท้องฟ้า หยิบต้นไม้วิเศษมาให้หนูแก้วหนึ่งต้น และพูดว่า "หนูแก้วเอาต้นไม้วิเศษนี้ไปปลูกในป่านะจ้ะ ต้นไม้วิเศษหนึ่งต้นจะให้กำเนิดต้นไม้เพิ่มใหม่อีกหนึ่งร้อยต้น และต่อไปนี้กระต่ายน้อยจะเอาต้นไม้วิเศษมาให้หนูแก้วทุกๆ วัน วันละต้นจ้ะ"

"หนูแก้วจะรอกระต่ายน้อยตรงนี้ทุกวันจ้ะ ขอบคุณมากสำหรับต้นไม้วิเศษ"

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในป่าแห่งนี้ก็มีต้นไม้เขียวชะอุ่มขึ้นมากมาย กระต่ายน้อยและหนูแก้วได้เล่นกันอย่างมีความสุขทุกวัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
เอกสารส่งเสริมการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม

แม่นกผู้กล้าหาญ

ชีวิตในป่าเต็มไปด้วยภยันอันตรายมากมายมหาศาล แม่นกโพระดกจึงตัดสินใจเลือกใช้คบไม้ที่สูงชันเป็นสถานที่สำหรับทำรังและวางไข่เพื่อให้กำเนิดลูกน้อย "รังของเราอยู่สูงจากพื้นดินมาก แถมยังมีใบไม้และเถาวัลย์กำบังไว้ คงไม่มีใครมาเห็นแน่"

แม่นกเฝ้ากกไข่อยู่ในรังจนกระทั่งลูกนกฟักออกมาจากไข่ แต่ละตัวล้วนมีหน้าตาน่ารักน่าชัง เมื่อลูกนกฟักออกมาแล้ว ต่างพากันร้องจิ๊บๆ ด้วยความหิว เสียงร้องคร่ำครวญของลูกๆ ทำให้แม่นกต้องผละจากรังออกไปหาอาหาร ไม่อาจเฝ้าดูแลรังได้ตลอดเวลาดังเดิม "โอ๋....อย่าร้องเอ็ดตะโรกันไปสิจ๊ะลูก ในป่านี้มีภัยอยู่รอบด้าน หากใครรู้ว่า เราซ่อนตัวอยู่ตรงนี้อาจเป็นอันตรายได้ ...อยู่กันดีๆ นะจ๊ะ แม่จะไปหาธัญญาหารและผลไม้มาให้ แล้วจะรีบกลับมา" แม่นกสั่งความก่อนจะเหิรบินจากไปด้วยความเป็นห่วง แม้ว่าจะได้รับคำเตือนแล้ว แต่ลูกนกยังเล็กนัก และไม่เคยเผชิญกับอันตราย พวกมันจึงไม่คิดถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ยังคงพากันส่งเสียงเย้าเหย่กันอย่างสนุกสนาน

เสียงร้องจิ๊บๆ ของลูกนกดังไปถึงสัตว์ร้ายตัวหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เจ้างูเหลือมนั่นเอง... "เอ๊ะ!....นั่นเสียงลูกนกที่ไหนนะ? แหม.....คิดถึงลูกนกกระดูกอ่อนๆ แล้วน้ำลายไหล" เจ้าสัตว์ร้ายรีบเลื้อยลัดเลาะไปยังต้นกำเนิดเสียงและเลื้อยพันต้นไม้ขึ้นไปถึงรังของลูกนกทันที !  เมื่อลูกนกมองเห็นงูเหลือม ต่างก็ตกใจจนอกสั่นขวัญแขวน และพากันระเบิดเีสียงร้องเซ็งแซ่ โชคดีที่แม่นกยังไม่ได้บินไปไกลนัก เมื่อได้ยินเสียงตื่นตระหนกของลูกๆ ดังแว่วมา จึงรีบบินกลับรังทันที

เมื่อเห็นงูร้ายตัวโตมโหฬารกำลังจ้องมองอย่างถมึงทึงหมายจะสังหารลูกตัวน้อย แม่นกก็ตกใจแทบสิ้นสติสัมปชัญญะ แต่ด้วยวิญญาณความเป็นแม่ ซึ่งรักและเป็นห่วงลูก ทำให้แม่นกตัดสินใจบินตรงดิ่งเข้าไปต่อกรกับงูเหลือมทันที แม่นกรวบรวมพละกำลังที่มี ถาโถมเข้าจิกตีงูร้ายอย่างหนักหน่วงโดยไม่คิดชีวิต ยังดีที่งูตัวนี้ไม่สันทัดการต่อสู้บนต้นไม้นัก เมื่อเห็นท่าว่าสู้ไม่ได้ มันจึงตัดสินใจล่าถอยไป ทั้งแม่นกและลูกน้อยจึงปลอดภัยในที่สุด

บทเรียนครั้งนี้ทำให้ลูกนกรู้ซึ้งถึงอันตรายในป่าแห่งนี้มากขึ้นและตั้งใจว่า จะใส่ใจเชื่อฟังคำตักเตือนของแม่อย่างเคร่งครัด


แหล่งข้อมูล :  เอกสารส่งเสริมการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
                    โรงเีรียนอัสสัมชัญแผนกประถม

Sunday, June 13, 2010

ชายขี้เหนียว

ชายขี้เหนียวคนหนึ่งขายทรัพย์สินในบ้านของตัวเองจนหมดเพื่อแลกเป็นทองคำแท่ง เขานำมัีนไปซ่อนไว้ที่กำแพง พอว่างเมื่อไรก็จะเดินไปดูว่ายังอยู่ครบหรือไม่ คนงานที่อยู่ละแวกนั้นเห็นเข้าก็สงสัยพฤติกรรมของเขามาก จึงคอยจับตาดูตลอด วันหนึ่งเมื่อคนงานคนนั้นรู้ความจริง ก็แอบขโมยทองคำนั้นไป

เมื่ีอชายขึ้เหนียวมาดูอีกครั้งก็พบว่าทองคำแท่งหายไปแล้ว จึงได้แต่ทึ้งผมตัวเองด้วยความเสียดายและตีอกชกหัว ร่ำไห้ราวกับจะเป็นจะตาย เมื่อมีคนผ่านมาเห็นและรู้เรื่องก็พูดว่า

"เพื่อนเอ๋ย อย่าเสียใจไปเลย ทองคำเป็นแค่สิ่งที่เจ้าซื้อมา ไม่ใช่สมบติที่ควรจะมี ลองหาก้อนหินมาวางไว้ในโพรงนี้แทน แล้วคิดว่าเป็นทองคำแท่ง เจ้าก็จะมีความสุข ทำอย่างนี้ก็ไม่ต่างจากตอนที่ทองคำยังอยู่ เพราะถึงมีทองคำ เจ้าก็ไม่ได้ใช้มันอยู่ดี"

นิทานเรื่องนี้สอนว่า "แม้จะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใด แต่ถ้าไม่ได้ใช้ก็เหมือนกับไม่เคยได้ครอบครอง"

เมล็ดข้าว

ฉันเกิดมาในครอบครัวขอทาน ทุกวันฉันจะเดินตามท้องถนนเพื่อขอเศษเงินจากผู้ใหญ่ วันหนึ่ง ฉันเห็นเธอนั่งอยู่ในรถม้าทองคำ ฉันคิดในใจว่านี่เป็นพระราชาองค์ไหนกันนะ และเมื่อโตขึ้น ความฝันของฉันก็ติดตามมาด้วย ฉันเฝ้าแต่ฝันว่า คืนวันแห่งความทุกข์ยากใกล้จะจบลงแล้ว ฉันคงจะได้รับความสุขสบายเหมือนฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้า และตั้งตารอวันที่เม็ดทรายกลายเป็นเงินทอง แล้วอยู่ๆ ก็มีรถม้ามาจอดอยู่ข้างฉัน

เธอมองมาทางฉันแล้วส่งยิ้มให้ ฉันคิดว่าโชคลาภได้มาถึงแล้ว แต่ทันใดนั้นเอง เธอก็ยื่นมือออกมาแล้วพูดว่า "เธอจะให้อะไรแก่ฉันบ้าง"

นี่มันอะไรกัน เธอกลับมาขอสิ่งของจากขอทาน ฉันได้แต่ยืนงง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงเอามือล้วงเข้าไปในย่าม หาเมล็ดข้าวที่เล็กที่สุดแล้วมอบให้เธอ

เมื่อเธอจากไป สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ฉันพบทองคำขนาดเท่าเมล็ดข้าวที่ให้ไป ฉันร้องไห้พร้อมกับคิดว่า เหตุใดฉันจึงคิดกับเธอเช่นนั้น


ข้อมูลอ้างอิง


ผู้แต่ง :  รพินทรนาถ ฐากูร