กาลครั้งหนึ่ง มีกระต่ายน้อยตัวหนึ่งกำลังนอนหลับฝันหวานสบายๆ อยู่ใต้ต้นตาลในป่าใหญ่ ในขณะที่เจ้ากระต่ายน้อยนอนหลับเพลินๆ อยู่นั้น ได้เกิดลมพายุใหญ่ขึ้น ซึ่งได้ทำให้ลูกตาลบนต้นหล่นตูมลงมาบนใบตาลที่กองสุมอยู่บนพื้นดินเสียงดังสนั่น ลูกตาลเกือบทับเจ้ากระต่ายน้อย ทำให้เจ้ากระต่ายน้อยตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ ไม่ทันได้ตริตรอง คิดว่าฟ้าถล่ม จึงลุกขึ้นวิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวความตาย
บรรดาสัตว์ต่างๆ ในป่า เช่น เสือ ช้าง กวาง เห็นเจ้ากระต่ายน้อยวิ่งมา จึงถามเจ้ากระต่ายน้อยไปว่า
"ท่านวิ่งหนีอะไรมา"
เจ้ากระต่ายน้อย วิ่งพลาง บอกพลางว่า "ฟ้าถล่ม"
สัตว์เหล่านั้นได้ฟังเจ้ากระต่ายน้อย ไม่ทันได้ตริตรอง คิดว่าฟ้าถล่มจริงๆ ก็พากันวิ่งตามเจ้ากระต่ายน้อยไป บ้างก็หกล้ม ขาหัก แข้งหัก ชนต้นไม้ ตกเหวตายบ้างก็มี ส่วนสัตว์ที่เหลืออยู่ก็พากันวิ่งหนีต่อไปอีก
จนมาพบราชสีห์ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์เจ้าปัญญา เห็นสัตว์ต่างๆ วิ่งมาไม่หยุดหย่อน จึงร้องถามไปว่า...
“เหตุใดพวกท่านจึงพากันวิ่งจนชนกันล้มตายขนาดนี้”
สัตว์เหล่านั้นกลัวอำนาจราชสีห์ก็ต้องหยุด และเล่าความที่เจ้ากระต่ายน้อยแจ้งแก่พวกสัตว์เหล่านั้นให้ราชสีห์ฟัง ราชสีห์นั้นก็เข้าใจทันทีว่า สัตว์เหล่านั้นคงจะตื่นอะไรมาสักอย่างหนึ่ง จึงถามต่อไปว่า
“ฟ้าถล่มที่ตรงไหน จงพาเราไปดูสักที”
ถึงแม้ว่า สัตว์เหล่านั้นกลัวตายจนตัวสั่น แต่ก็ไม่กล้าขัดอำนาจของราชสีห์ จึงต้องพาราชสีห์ไป เมื่อไปถึงใต้ต้นตาลที่เจ้ากระต่ายน้อยนอน ราชสีห์ก็พิเคราะห์ดู เห็นลูกตาลหล่นอยู่ที่โคนต้น ก็เข้าใจว่า ผลตาลนั้นหล่นลงมา แล้วเจ้ากระต่ายน้อยก็คิดว่าฟ้าถล่ม เลยตกใจวิ่งหนีไป บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีปัญญาตริตรอง ก็พากันหลงเชื่อเจ้ากระต่ายน้อยวิ่งเตลิดไปจนชนกัน แข้ง ขา คอ หัก ตกเหวตาย
บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่พากันได้รับทุกขเวทนาในครั้งนี้ ก็เพราะเป็นผู้ขลาดเขลาปัญญา หาตริตรองมิได้
คติจากนิทานเรื่องนี้ : เตือนใจให้คนเรารู้จักใช้สติปัญญาไตร่ตรอง ไม่ให้ตื่นตกใจต่อเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง และเชื่อคนง่าย โดยไม่คิดใคร่ครวญถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องนั้นๆ ให้ชัดเจนและรอบคอบก่อน