Saturday, June 25, 2011

คนจนที่แท้จริง

ในสมัยโบราณ ที่ประเทศอินเดีย มหาเศรษฐีคนหนึ่งมีศรัืทธาอยากจะออกบวช อุทิศกายใจเพื่อการปฎิบัติภาวนา แต่เขาจำเป็นต้องจัดการเรื่องทรัพย์สมบัติที่มีอยู่มากมายให้เรียบร้อยเสีย ก่อน จึงจะออกบวชได้อย่างหมดห่วง ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาไม่มีครอบครัว พี่น้องหรือลูกหลานเลย ฉะนั้นใครจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่เขาสมควรจะยกสมบัติให้ เขาคิดๆๆ จนหาคำตอบได้ว่า เขาจะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แ่ก่คนที่จนที่สุดในอินเดีย แต่บุคคลนั้นจะเป็นใครเล่า

ท่านเศรษฐีประกาศกับเพื่อนฝูงว่า เขาจะออกธุดงค์สักหนึ่งปี ไปให้ทั่วอินเดีย เพื่อค้นหาคนที่จนที่สุด โดยไปแบบคนธรรมดา ไม่ให้ใครรู้ว่าเขาเป็นมหาเศรษฐี ว่าแล้วเขาก็ออกเดินทางและหายตัวไปจากวงการเศรษฐีเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม เมื่อเขากลับมา เพื่อนๆ ถามด้วยความตื่นเต้นว่า ใครคือคนยากจนที่สุดในอินเดียที่จะโชคดีได้รับทรัพย์สมบัติจากเขา คำตอบของท่านเศรษฐีทำเอาเืพื่อนๆ ทุกคนอ้าปากหวอด้วยความงงงวยเป็นที่สุดว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร...


"ระหว่างเดินทางผมพบผุ้คนมากมาย ผมพยายามหาคนที่จนที่สุด ผมพบชาวบ้านในกระต๊อบเล็กๆ กลางทุ่งนา เขาเชิญผมไปพักในบ้าน ผมเห็นเขาอยู่อย่างพอเพียง แม้จะจนเงินทอง แต่เขาก็พออยู่พอกิน มีเมตตาต่อกัน เคารพและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พวกเขาอยู่กันอย่างมีความสุข ผมเลยต้องสรุปว่า คนอย่างนี้ไม่จนแน่"


"ทีนี้ผมก็คิดต่อ จะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสินความจน พิจารณาแล้วผมเห็นว่าคนที่รู้สึกว่าขาดที่สุด คนที่ไม่พอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่ น่าจะถือได้ว่าคนชนิดนั้นเป็นคนที่จน จากนั้นผมก็คิดถึงมหาราชาของเรา ท่านเรียกเก็บภาษีพวกเราเพิ่มขึ้นทุกปีไม่เคยพอซักที แล้วยังชอบทำสงครามขยายอาณาจักรอยู่ตลอดเวลา ผมจึงสรุปว่า มหาราชาเป็นผู้ที่มีเท่าไรก็ไม่รู้จัดพอ ฉะนั้นท่านนั่นแหละเป็นบุคคลที่จนที่สุดในชมพูทวีป ผมจึงตัดสินใจยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ท่าน"


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :  หนังสือ "เรื่องท่านเล่า"
ผู้แต่ง                  :  คุณศรีวรา อิสสระ


โดย                    :  มิสนงลักษณ์ สีนิลแท้
หนังสือ                :  อัสสัมชัญสาส์น
                             ศตวรรษที่ 2 ปีที่ 26 ฉบับที่ 144
                             เืดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน พ.ศ. 2554