Tuesday, November 16, 2010

พระคุณแม่ทดแทนไม่รู้หมด

กาลครั้งหนึ่งไม่นานเท่าไหร่ ณ ต้นไม้ใหญ่ท้ายหมู่บ้าน มีเด็กชายคนหนึ่งเดินหงุดหงิดอยู่คนเดียว ปากก็บ่นไปว่า "ใช้อยู่ได้ วันๆ ใช้ทำโน่นทำนี่ เดี๋ยวให้ถูบ้าน เดี๋ยวให้ล้างจาน โอ๊ย...เบื่อๆ ๆ"

เดือดร้อนถึงเทพผู้ให้กำเนิด ซึ่งเป็นผู้จัดการให้เด็กๆ มาเกิดในหมู่บ้านนี้ จึงแปลงกายเป็นผู้เฒ่า และปรากฎตัวพร้อมกับหมาน้อยตัวหนึ่ง

ผู้เฒ่าถามเด็กน้อยว่า "เด็กน้อยเจ้าบ่นอะไรอยู่เหรอ บอกเรามาเถอะ เผื่อเราจะช่วยเจ้าได้"

เด็กน้อยตอบ "ก็แม่ของฉันนะสิ วันๆ ชอบใช้ให้ทำงานบ้าน ไม่เคยได้พัก ได้เล่นกับเพื่อนบ้างเลย"

ผู้เฒ่าหยิบก้อนอิฐขึ้นมาสองก้อน

"เอ้า ถ้าอย่างนั้นเจ้าก็มาเล่นกับเราสิ เรามาแข่งกันถืออิฐนี้ไว้คนละก้อน ใครถือได้นานกว่าคนนั้นชนะ"

เด็กชายเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ จึงตกลงเล่นด้วย เวลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เด็กน้อยเริ่มเมื่อยล้า รู้สึกเบื่อ และขอยอมแพ้ ในที่สุดผู้เฒ่าจึงพูดต่อว่า

"ถ้างั้นเจ้าเล่นกับลูกหมาตัวนี้ไหมล่ะ แต่ก่อนอื่นเจ้าต้องป้อนนมให้มันก่อนนะ"

เด็กน้อยรับคำ แล้วเริ่มป้อนนมให้หมาน้อย ไม่นานมันก็เริ่มซุกซนและไม่ยอมอยู่นิ่งจนเด็กน้อยเริ่มเบื่อ แล้วก็พาลไม่ป้อนต่อ ผู้เฒ่าจึงสอนว่า

"แม้แต่ก้อนอิฐหนึ่งก้อนเจ้าก็ยกได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เทียบไม่ได้กับแม่เจ้า ซึ่งต้องอุ้มท้องเจ้าทั้งวันทั้งคืนนานถึงเก้าเดือน ก่อนจะคลอดเป็นเจ้าออกมา แล้วยังต้องอดทนเลี้ยงเจ้าตั้งแต่เล็กจนโตขนาดนี้ ในขณะที่เจ้าป้อนนมลูกหมาแค่มื้อเดียวก็เบื่อแล้ว การเป็นแม่นั้นลำบากนัก ตั้งแต่อุ้มท้อง และเลี้ยงลูกจนกว่าจะโต การทดแทนบุญคุณด้วยการช่วยการงานเพียงเล็กน้อยย่อมเทียบไม่ได้กับพระคุณแม่ที่เลี้ยงเรามา"

เด็กน้อยได้ฟังแล้วจึงคิดได้ รีบวิ่งกลับไปหาแม่โดยไม่คิดบ่นอีกเลย

คติ :  พระคุณแม่นั้นมากล้นเหลือคณานับ จะตอบแทนเท่าใดก็ไม่หมดสิ้น

จำไว้เสมอว่า "ความกตัญญูนั้น ส่งผลให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"


แหล่งข้อมูลที่มา    :    หนังสือ "อัสสัมชัญสาส์น"
                                    ศตวรรษที่ 2 ปีที่ 26 ฉบับที่ 142
                                    เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้แต่ง                     :     มิสขนิษฐา สุคตะ

Tuesday, November 9, 2010

ไม่สำคัญที่ชื่อ

มีมาณพคนหนึ่งชื่อ บาป ภาษาไทยเรียกว่า ลามก เป็นลูกศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์ในเมืองตักสิลา เขาถูกอาจารย์เรียกชื่อเสมอๆ ว่า "เจ้าบาป เจ้าบาป" นายบาปก็เห็นว่าชื่อของตนนี้เป็นอัปมงคลเสียจริงๆ จึงเข้าไปหาอาจารย์ขอให้อาจารย์เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ อาจารย์บอกว่า "เจ้าจงไปหาชื่อของคนที่ถูกใจเจ้ามาให้เราชื่อหนึ่งก่อน แล้วเราจะเปลี่ยนชื่อให้" นายบาปก็เที่ยวไปหาชื่อตามบ้านตามเมืองต่างๆ ครั้นไปเห็นคนเขาหามศพไปป่าช้าจึงถามว่า "คนที่ตายนี้ชื่ออะไรจ๊ะ"

คนหามศพบอกว่า "ชื่อนายอยู่"

นายบาปได้ยินดังนั้นจึงถามว่า "ชื่ออยู่ทำไมจึงตายเล่า"

คนหามศพจึงพูดว่า "ท่านนี้ช่างโง่เสียจริง คนชื่ออยู่หรือไม่ชื่ออยู่ก็ตายทั้งนั้นแหละ"

นายบาปได้ฟังแล้วก็เดินต่อไป พอถึงถนนแห่งหนึ่ง เห็นหญิงคนหนึ่งถูกโบยด้วยเชือกหนัง จึงแวะเข้าไปถามว่า "ท่านโบยหญิงนี้ทำไม"

เขาบอกว่า "มันเป็นทาสน้ำเงินของฉัน เมื่อมันจะไปจากฉัน มันก็ไม่คิดเงินให้ จึงต้องโบยมัน"

นายบาปถามว่า "หญิงนี้ชื่ออะไรไม่ทราบ"

เขาบอกว่า "ชื่อนางรวย"

นายบาปถามว่า "ชื่อรวยทำไมไม่มีเงินให้ท่านเล่า"

เขาจึงว่า "ท่านนี้ช่างโง่จริง คนชื่อรวยหรือไม่ชื่อรวยก็ตาม ถ้าไม่มีวาสนาแล้ว ก็เป็นคนยากจนได้ทั้งนั้น"

นายบาปเดินทางต่อไปถึงที่แห่งหนึ่ง เห็นชายคนหนึ่งเดินวนเวียนไปมาอยู่แถวนั้น จึงเข้าไปถามว่า "ทำไมท่านมาเดินวนเวียนอยู่เล่า"

ชายคนนั้นบอกว่า "เราหลงทางไม่รู้จะไปทางไหน"

นายบาปถามว่า "ท่านชื่ออะไรเล่า"

ชายคนนั้นบอกว่า "เราชื่อชำนาญทาง"

นายบาปพูดว่า "ชื่อชำนาญทาง ทำไมหลงทางได้"

ชายคนนั้นบอกว่า "ท่านอย่าโง่ไปเลย คนชื่อชำนาญทางหรือไม่ชื่อชำนาญทางก็อาจหลงได้ทั้งนั้น ชื่อเป็นแต่ตั้งไว้เรียกกันเท่านั้น"

นายบาปได้ฟังเช่นนั้น จึงคิดถึงชื่อคนตั้งแต่ต้นที่ไปพบมา ชื่ออยู่ก็ยังตาย ชื่อรวยก็ยังจน ชื่อชำนาญทางก็ยังหลงทาง แล้วนายบาปก็คิดต่อไปว่า ชื่อไม่สำคัญนี่ เป็นแต่ตั้งไว้อาศัยเรียกกันเท่านั้น ที่สำคัญก็อยู่ที่สุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อทำดี พูดดี คิดดี แล้วจะมีชื่ออย่างไรก็ไม่แปลก นายบาปจึงล้มความตั้งใจที่จะเปลี่ยนชื่อ กลับไปหาอาจารย์เล่าความตั้งแต่ต้นให้อาจารย์ฟัง แล้วเลิกการเปลี่ยนชื่อของตน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง   :  นิทานคติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ

ผู้แต่ง  :                        แปลก สนธิรักษ์

เงินสลึง

เด็กหญิงมณฑา รักวิชา ถือเงินสลึงที่ป้าให้ไปหาแม่ พูดว่า "แม่จ๋า ป้าให้เงินฉันสลึงหนึ่ง ฉันจะซื้อของเล่น" แม่ตอบว่า "เงินของเจ้า เจ้าจะทำอะไรก็ได้ แต่เรามาพูดกันเรื่องเงินนี่ก่อนเถิด"

เด็กหญิงมณฑานั่งลงใกล้แม่ คอยฟังว่าแม่จะพูดอะไรด้วยเรื่องเงินนั้น

แม่เอาเงินสลึงนั้นมาวางในฝ่ามือ ถามเด็กหญิงมณฑาว่า "สลึงหนึ่งเท่าไร"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "ยี่สิบห้าสตางค์เป็นสลึง"

แม่พูดว่า "ถูกละมณฑา ถ้าสี่สลึงเป็นเท่าไรล่ะ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "เป็นบาทหนึ่งสิแม่"

แม่ถามว่า "เงินเหล่านี้ใช้สำหรับทำอะไร"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "สำหรับซื้อขนมก็ได้ สำหรับซื้อตุ๊กตาก็ได้"

แม่ถามว่า "ใช้ได้เท่านั้นหรือ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "ไม่ใช่เท่านั้นดอกแม่ ถ้ามีมากจะเอาซื้อผ้าก็ได้ จะซื้อหนังสือก็ได้ จะเอาซื้ออาหารก็ได้ แต่ฉันมีสลึงเดียวเท่านั้น"

แม่ถามว่า "เออ มณฑา คนเขาหาเงินได้อย่างไร เจ้ารู้หรือ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "จ้ะ เขาหาได้ด้วยทำการ"

แม่พูดว่า "ถูกละมณฑา เราต้องทำการจึงจะหาเงินได้ ครั้นทำการได้เงินมาแล้ว เราต้องเลือกหาดูว่า จะเอามันไปทำอะไร"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "เอามันใช้สิแม่"

แม่ถามว่า "เท่านั้นหรือ"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "เราต้องเก็บมันไว้บ้าง ให้น้องเสียก็ได้"

แม่ถามว่า "ตามเจ้าว่า เราทำมันได้สามอย่าง คือใช้มันอย่าง ๑ เก็บมันไว้อย่าง ๑ ให้คนอื่นเสียอย่าง ๑ สามอย่างนี้เจ้าชอบอย่างไหน"

เด็กหญิงมณฑาตอบว่า "ฉันชอบทั้งสามอย่าง แต่ฉันจะทำทั้งสามอย่างด้วยเงินสลึงเดียวไม่ได้"

แม่พูดว่า "เจ้าต้องเก็บมันไว้ก่อนสิ จนมันมีมากพอ เจ้าจะซื้อของเล่นที่เจ้าชอบใจ จะซื้อให้น้องบ้าง เอาเหลือไว้บ้าง เช่นนี้เจ้าจะทำได้ทั้งสามอย่าง"

เด็กหญิงมณฑาเห็นชอบด้วย จึงเอาเงินสลึงฝากแม่ไว้ ได้มาอีกก็ฝากไว้อีก จนมีพอ จึงเอาซื้อหมวกสำหรับตัวใบหนึ่ง ให้น้องใบหนึ่ง ยังเหลืออีกบาทสามสลึง จึงสงวนไว้ใช้ต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  :    หนังสืออ่านภาษาไทย, นิทานสุภาษิต
                                     กระทรวงศึกษาธิการ

พูดดีเป็นศรีแก่ตัว

มีบุตรเศรษฐีสามคน อยากได้ดอกบัว จึงชวนกันไปที่สระบัวแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชายจมูกแหว่งเฝ้ารักษาอยู่ บุตรเศรษฐีคนที่หนึ่งได้พูดกับชายจมูกแหว่งที่เฝ้าสระบัวว่า "ท่านผู้เจริญ ธรรมดาผมและหนวดที่โกนแล้วยังงอกได้ฉันใด จมูกของท่านก็คงจะงอกได้ฉันนั้น ขอท่านจงให้ดอกบัวแก่ข้าพเจ้าเถิด"

บุตรเศรษฐีคนที่สองพูดว่า "พืชที่เขาหว่านลงในนา ย่อมงอกงามขึ้นได้ฉันใด จมูกของท่านก็คงจะงอกได้ฉันนั้น ขอท่านจงให้ดอกบัวแก่ข้าพเจ้าเถิด"

ชายจมูกแหว่งได้ฟังบุตรเศรษฐีทั้งสองพูดดังนั้นก็โกรธ เพราะพูดเอาแต่จะได้ จึงไม่ให้ดอกบัว

บุตรเศรษฐีคนที่สาม เมื่อเห็นชายจมูกแหว่งโกรธจึงพูดว่า "ทั้งสองคนนั้นพูดไม่จริง ธรรมดาจมูกที่แหว่งไปแล้วจะงอกขึ้นเหมือนผม หนวด และพืชนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าพูดนี้เป็นความจริง ท่านจงให้ดอกบัวแก่ข้าพเจ้าเถิด"

ชายจมูกแหว่งได้ฟังบุตรเศรษฐีคนที่สามพูดดังนั้นจึงกล่าวว่า "ท่านเป็นคนพูดจริง พูดถูก ข้าพเจ้าชอบใจ ไม่เหมือนสองคนที่พูดมาก่อน ยกย่องข้าพเจ้าเกินความจริง ข้าพเจ้าจะให้ดอกบัวแก่ท่าน" แล้วชายจมูกแหว่งก็หยิบดอกบัวมัดใหญ่ให้แก่บุตรเศรษฐีคนที่สาม

เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดว่า การพูดดีถูกกาลเทศะย่อมได้ผล ถ้าพูดไม่ดีก็เสื่อม


แหล่งข้อมูลอ้างอิง    :    นิทานคติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ
                                       
ผู้แต่ง                         :    แปลก สนธิรักษ์